ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีประชาพิจารณ์ต่อ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ระดับประเทศคึกคัก มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1 พันคน ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและรับบริการ แต่ยังคงไร้เงาปลัด สธ.และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม ด้าน “หมอรัชตะ” เปิดเวทีประชุม ย้ำเป็นเวทีเพื่อรวบรวมความเห็นสู่การสร้างความสมดุลระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ถกลดปัญหาขัดแย้ง ทั้งการแยกเงินเดือน การจัดสรรงบ และการแยกกองทุน เป็นต้น นำไปสู่การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน      

วันนี้(2 ก.พ.58) โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ – ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไป จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสข.) มีผู้ให้บริการ อาทิ ผู้แทนหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)และผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชน เครือข่ายผู้ป่วยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 1 พันคน

 ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การประชุมรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่จัดขึ้นนี้ เป็นการรับฟังความเห็นทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและรับบริการพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันที่สร้างสรรค์ ซึ่งในช่วง 12 ปีหลังการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นที่ประจักษ์ว่า ประชาชนได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้ประชาชนไม่ต้องประสบภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจากการเข้าพบผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก ต่างชื่นชมประเทศไทยที่จัดให้มีระบบสุขภาพที่ดูแลแม้แต่ประชาชนที่มีรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งเป็นระบบที่ดี ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันธำรงไว้ เพื่อรักษาระบบให้มีความยั่งยืนและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดำเนินมาในช่วง 12 ปี ได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยขน์ การจัดสรรงบประมาณ การบริหารต่างๆ ดังนั้นเวทีนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะมีการรวบรวมความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบและพัฒนาเพิ่มเติมทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการเอง รวมถึงหาจุดสมดุลที่เหมาะสมเพื่อทำให้ก้าวหน้าต่อไปได้ สำหรับประเด็นที่ได้มีการรวบความความเห็นก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะประเด็นที่มีการแสดงความเห็นกันมากคือด้านกลไกทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการแยกงบเงินเดือน การจัดสรรงบเฉพาะโรค การจัดสรรงบผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นหัวข้อสำคัญของการพูดคุยในวันนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน แลจะนำไปประกอบการตัดสินใจบนข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

“ความเห็นแตกต่างกัน บางครั้งอาจเกิดจากข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกัน และจากที่ได้เข้าบริหาร ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้สังเกตว่ากระบวนการทำงานร่วมกันควรมีบรรยากาศในการรับฟังความเห็นกันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการทำงบประมาณขาขึ้นปี 2559 อยากเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในการจัดทำงบประมาณร่วมกันตั้งแต่ต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งลงได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว  

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดเวทีเปิดกว้างเพื่อรับความเห็นทั้งในส่วนผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และได้มีการรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่การรับฟังความเห็นระดับประเทศในวันนี้ ซึ่งในฐานะเป็นประธานจัดประชุมรับฟังความเห็นต่อเนื่องช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเวทีการรับฟังความเห็นในครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วนมากที่สุด และมีผู้ที่เข้าร่วมแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  

สำหรับในวันนี้การรับฟังความเห็นได้เป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม ได้แก่ ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข, ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข, ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน, ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่, ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเครือข่ายวิชาชีพ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นย่อยที่ได้รวบรวมความเห็นในช่วง 29 ม.ค.–1 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแสดงความเห็นในวันนี้ ได้แก่ 1.กลไกการจัดสรรงบประมาณและการบริหารงบประมาณ อาทิ การแยกเงินเดือน การบริหารเงินคงเหลือ การจัดสรรงบโรคค่าใช้จ่ายสูง การบริหารจัดการงบค่าเสื่อม การจัดงบช่วยเหลือหน่วยบริการ การปรับระเบียบเงินบำรุงเพื่อให้สามารถใช้จ่าย 2.การปฏิสัมพันธ์ระหว่าง สปสช.-สธ.ที่ขาดเอกภาพ ทำให้ขาดความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน 3.ความเหลื่อมล้ำการประชาสัมพันธ์ความสำเร็จการดำเนินงานของ สปสช.และ สธ. 4.การปฏิรูประบบสุขภาพของ สธ.ที่ต้องติดตามการจัดสรรงบ สปสช. และ 5.ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ โดยหาสาเหตุ และแนวทางแก้ไข ทั้งการขอประมาณเพิ่มเติม หรือการร่วมจ่าย เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมรับฟังความเห็นฯ ครั้งนี้ ผู้บริหารที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ผู้บริหารในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ปรากฎว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความเห็นในเวทีนี้ด้วย