ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสามารถ มีความคิดที่ก้าวไกล บวกกับความสามารถที่ผลักดันให้ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของการพัฒนางานด้านเภสัชกรรม  และยังเป็นผู้ก่อตั้งกองเภสัชกรรม หรือองค์การเภสัชกรรมในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีผลงานอื่นๆอีกมากมายจนได้รับการยกย่องให้ท่านเป็นถึงรัฐบุรุษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม

ภก.ดร.ตั้ว เกิดเมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2441 ที่ บ้านตำบลถนนสุรวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายเจริญ และนางเนียร ลพานุกรม มีพี่น้อง 5 คน เบื้องต้นได้รับการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมเทพศิรินทร์ และโรงเรียนราชวิทยาลัย และได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ไปศึกษา ณ ประเทศเยอรมันนีโดยทุนของพระองค์เมื่อปลายปี 2453

ภก.ดร.ตั้ว เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาททางการเมืองในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในปี 2475 ส่วนอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นทั้งเภสัชกร และนักวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ภก.ดร.ตั้วเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการและทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กรรมการราษฎร รัฐมนตรี

ภก.ดร.ตั้ว เป็นผู้มีความสามารถด้านภาษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส หลังสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ได้แก่ วิชาเคมี, เภสัชศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ เมื่อกลับมาประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก และได้สร้างคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างยิ่ง ซึ่งมีความรุดหน้าอย่างมากในสมัยของ ภก.ดร.ตั้ว นอกจากนี้ยังกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ให้ทัดเทียมอารยประเทศอีกด้วย

ด้วยความปรารถนาของ ภก.ดร.ตั้ว ที่อยากจะส่งเสริมและบำรุงการวิทยาศาสตร์ของชาติให้เจริญรุ่งเรือง เพราะมีคติอยู่ว่า ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้ จึงทำให้ ภก.ดร.ตั้ว ซึ่งมีความสนใจด้านการอ่านเป็นพิเศษได้จัดตั้งแผนกห้องสมุดในกรมวิทยาศาสตร์ขึ้น และในปี พ.ศ.2479 มีการตั้งกองเภสัชกรรม ในปี พ.ศ.2482 ได้สร้างโรงานเภสัชกรรม ปัจจุบันคือ องค์การเภสัชกรรม และมีการตีพิมพ์วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในชื่อ Siam Science Bulletin อีกทั้งยังเป็นผู้ปรับปรุงหลักสูตรแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากอนุปริญญาเป็นระดับปริญญา และสร้างอาคารเรียนแรกของตึกแผนกเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ภก.ดร.ตั้ว ยังเคยได้กล่าวถึงการส่งเสริมงานเภสัชกรรม ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ 

1.ยาเป็นวัตถุที่มีค่าเหมือนดาบสองคม คือ ถ้าใช้ดีก็มีประโยชน์ ใช้ไม่ดีก็เป็นโทษ ฉะนั้นการปรุงยาก็ดี จำหน่ายยาก็ดี จึงจำเป็นต้องกระทำโดยผู้มีความรู้ดี และได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี ข้อนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นส่วนใหญ่

2.ประเทศเราอุดมไปด้วยพืชสมุนและสิ่งอื่นๆ ที่อาจใช้เป็นยารักษาโรคได้ แต่เรายังมิได้มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจังสรรพคุณอันวิเศษต่างๆ จึงไม่ปรากฏขึ้นตามหลักวิชาการ ถ้าหากเราเริ่มศึกษาค้นคว้าเป็นหลักฐานก็เชื่อว่าจะสามารถดัดแปลงเป็นยารักษาโรคได้เป็นอันมาก ข้อนี้เกี่ยวกับการขุดทรัพย์ที่ไม่เกิดประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ขึ้นเหมือนกับการขุดแร่ แร่ธรรมดาอยู่ในดินก็หาประโยชน์อะไรไมได้ แต่เมื่อขุดมันขึ้นมาแล้วจึงเป็นทรัพย์ที่มีประโยชน์

ภก.ดร.ตั้วได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหน้างานที่ดี มีนโยบายการใช้คนอย่างดียิ่ง ได้ทำงานทางวิทยาศาสตร์และราชการจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ด้วยอายุเพียง 43 ปีและได้รับสมญานามว่าเป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง