ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากสถานการณ์อีโบลาระบาดครั้งใหญ่ในโลกเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ต้องหันกลับไปให้ความสำคัญกับโรคอุบัติใหม่ หรือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่(Emerging infectious Diseases) และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ(Reemerging infectious Diseases) ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ หมายถึง โรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆ ที่ปรากฏว่ามีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในระยะประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา หรือโรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ คำจำกัดความนี้ครอบคลุมถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกอาณาบริเวณหนึ่ง และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่มาบัดนี้เกิดการดื้อยา โรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีอีกหลายโรคที่นักวิทยาการระบาดถือว่าเป็นโรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำเช่นกัน ส่วนโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ หมายถึง โรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในอดีต และสงบไปแล้วเป็นเวลานานหลายปีแต่กลับมาระบาดขึ้นอีก

หากจะย้อนกลับไปดูประวัติของโรคอุบัติใหม่เช่นไวรัสอีโบลา หนังสือเรื่อง “ระบาดบันลือโลก เล่ม 4” ของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ได้กล่าวถึงกำเนิดของไวรัสอีโบลา และช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดไว้อย่างน่าสนใจ... 

ไวรัสอีโบลา เป็นไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกเป็นสมาชิกในสกุล “ฟิโลไวรัส” (Filovirus) พบระบาดในแอฟริกา แพร่ระบาดติดต่อได้ทั้งจากคนสู่คน ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผู้ป่วย และสามารถติดต่อกันโดยทางอากาศด้วยจึงนับว่ามีอันตรายสูง อัตราป่วย/ตายสูง ตลอดจนยังไม่มียารักษาและอาจแพร่มาจากสัตว์ที่ยังไม่ทราบว่ามีสัตว์อะไรบ้าง

การระบาดครั้งแรกของไวรัสอีโบลาเมื่อปี พ.ศ. 2519 พบมีการระบาดเป็นครั้งแรกของโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ที่ เกิดขึ้นที่ประเทศซูดาน และประเทศซาอีร์ ชื่ออีโบลาชื่อนี้ได้มาจากชื่อแม่น้ำอยู่ตรงบริเวณที่พบโรคในตอนเริ่มแรก แถบลุ่มแม่น้ำอีโบลาในประเทศซาอีร์ (Zaire)

ผู้ป่วยรายแรกซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยดรรชนีเป็นชายอายุ 44 ปี เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนมิชชันนารีไปขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลมิชชั่นยัมบูกุซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด120 เตียง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ด้วยอาการไข้ซึ่งคิดว่าเป็นไข้จับสั่น (มาลาเรีย) และได้รับการรักษาโดยการฉีดคลอโรควินและมีอาการทุเลาขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามภายใน 1 สัปดาห์มีคนไข้ในโรงพยาบาลได้รับการฉีดยาโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนไข้รายดรรชนีดังกล่าว หลังจากนั้นก็ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีกหลายคน บางรายไม่ได้รับการฉีดยาแต่เป็นผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยอยู่ระหว่าง 4 สัปดาห์แรกของการระบาด หลังจากนั้นโรงพยาบาลจึงต้องปิดการให้บริการเนื่องจากแพทย์ 11 จาก 17 คนที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ป่วยและตาย ผู้ป่วยเกิดขึ้นทุกกลุ่มอายุและทั้งสองเพศ แต่สตรีอายุระหว่าง 15-29 ปีจะมีอัตราป่วยชุกกว่ากลุ่มอื่น สรุปได้ว่าการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยเกิดจากการถูกเข็มแทงและของมีคมปนเปื้อนเชื้อทำให้เกิดบาดแผล รวมถึงการแต่งศพของบรรดาญาติๆ ด้วย

ประมาณ 5 สัปดาห์ภายหลังการระบาดครั้งแรกที่ยัมบูกุ ประเทศซาอีร์ นายแพทย์ ซูโร ได้ศึกษาลักษณะทางเวชกรรมของผู้ป่วย 14 ราย พบว่าผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลันหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ปวดท้อง เจ็บคอ หน้าตาไร้ความรู้สึก มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ในบางรายประมาณวันที่ 5 ของระยะเฉียบพลันของโรคจะมีผื่นขึ้นตามตัวและมีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีแผลตามริมฝีปากและในช่องปากมีเลือดออกจากแผลดังกล่าวและออกจากเหงือก อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระดำ เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกจากช่องหู ปัสสาวะเป็นเลือด และบางรายมีอาการตกเลือดหลังคลอดด้วย

ในรายที่มีเลือดออกมักจะถึงแก่กรรมภายใน 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยในระยะหลังของการระบาดอาการเลือดออกจะมีความรุนแรงน้อยลงกว่ารายแรก ๆ ของการระบาด ในรายที่มีเลือดออกไม่รุนแรงหรือไม่มีเลือดออกเลยมักจะไม่ถึงแก่กรรม แต่ก็ไม่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากเป็นการฉุกเฉินและเป็นการศึกษาในสนาม จากการสำรวจทุกบ้านพบว่ามีระบาดอยู่ 55 ตำบล(ทั้งหมดมี 550 ตำบล) และโรคนี้ไม่เคยเป็นที่รู้จักของชาวบ้านมาก่อนเลย

กระทั่ง ไวรัสนี้ได้รับการขนานนามว่า ไวรัสอีโบลา(Ebola virus) ตามชื่อแม่น้ำที่อยู่ในถิ่นที่โรคระบาดและเรียก ไวรัสอีโบลา สายพันธุ์ซาอีร์ หรือ Ebola-Z จากการแยกไวรัสได้ต่างสายพันธุ์กัน ด้วยเหตุนี้การระบาดในประเทศซูดานและในประเทศซาอีร์จึงมิใช่การแพร่ของโรคจากประเทศแรกเข้าไปยังประเทศหลัก และยังพบว่าการระบาดของโรคลดความรุนแรงลงเมื่อมีการหยุดการใช้เข็มฉีดยาร่วม และยังมีมาตรการแยกกักกันผู้ป่วยมิให้ออกนอกหมู่บ้าน การใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างมิดชิดและถูกต้องของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล การกำจัดวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อที่ถูกวิธี ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อต่อไปได้ โดยการติดต่อส่วนใหญ่จะติดต่อจากเลือด การติดจากละอองฝอยของน้ำมูกน้ำลายอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อย ไม่สามารถแยกไวรัสได้จากตัวเรือด (Cimexhemipterus F.) ยุงคิวเล็กซ์และยุงแมนโซเนีย ซีรัมของสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น หมู วัว ค้างคาว หนู กระรอก ลิงไม่พบว่ามีแอนติบอดีต่อไวรัสอีโบลา (ไม่ติดเชื้อ) แต่อย่างใด จึงหาแหล่งรังเก็บเชื้อในธรรมชาติไม่ได้

ต่อมา ในปีพ.ศ. 2532 มีการระบาดของไวรัสอีโบลาในฝูงลิงแสมที่กักกันไว้ที่สถานีกักกันโรค เมืองเรสตันรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นลิงแสมที่ส่งไปจากฟาร์มเฟอร์ไลท์ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นลิงที่เพาะไว้จำหน่ายที่ฟาร์มบนเกาะมินดาเนา ลิงจะถูกกักกันไว้ก่อนส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่นำโรคจากป่ามาแพร่ในเมือง โดยเฉพาะแพร่สู่นักวิจัยเป็นเบื้องต้น ในระหว่างกักกันลิงได้ล้มเจ็บและมีอัตราตายสูง การสอบสวนและตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นไวรัสอีโบลา ซึ่งเมื่อลิงติดเชื้อโรคจะมีความรุนแรงมากอัตราตายสูง แม้ว่าจะก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้เหมือนกัน (พิสูจน์ได้จากการตรวจเลือดผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น ผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพลิง) แต่กลับไม่ก่อโรคที่มีอาการป่วยดังเช่นสายพันธุ์ซาอีร์ และสายพันธุ์ซูดาน จึงให้ชื่อว่าสายพันธุ์เรสตัน(Ebola virus, strain Reston)

นอกจากนั้น ก็มีรายงานการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์เรสตัน ในลิงแสมที่สถานีกักกันสัตว์ในรัฐเท็กซัส เป็นลิงแสมที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน และอีโบลาเรสตันนี่เองที่พบว่าไประบาดอยู่ในสุกรฟิลิปปินส์ กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐจึงได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อทำการสอบสวนและสอบค้นเพื่อดูผลต่อสุขภาพทั้งต่อมนุษย์และลิงที่สัมผัสเชื้อนี้ และต่อมา หน่วยงานติดตามเฝ้าระวังโรคขององค์การอนามัยโลก จึงได้นำผลการการสอบสวนโรคมาเผยแพร่ให้ได้ทราบทั่วกัน

โดยสรุปแล้ว ลักษณะทางเวชกรรมของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีสาเหตุของโรคเป็นเชื้อไวรัส ชื่อไวรัสอีโบลา (Ebolavirus) มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ซูดาน (Sudan หรือ S strain )สายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire หรือ Z strain) สายพันธุ์ ไอวอรี โคสท์หรือ โคท ดี วัวร์ เรียกว่าสายพันธุ์ C (C strain) ก่อโรคในมนุษย์ทั้งสามสายพันธุ์ และสายพันธุ์ที่สี่คือสายพันธุ์ที่แยกได้จากลิงที่ส่งไปจากฟิลิปปินส์ และไปล้มเจ็บเป็นจำนวนมากที่สถานีกักกันลิงเมืองเรสตัน สหรัฐอเมริกา จึงเรียกว่าสายพันธุ์เรสตัน (Reston หรือ R strain) สายพันธุ์หลังนี้ทำให้คนเลี้ยงลิงที่อยู่ใกล้ชิดติดเชื้อ แต่ไม่ป่วยเป็นโรค

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีระยะฟักตัว ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ลักษณะอาการของโรคที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลันปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว อาเจียน ต่อมาจะมีผื่นขึ้นตามตัวมีจุดเลือดออกหรือมีจ้ำห้อเลือดใต้ผิวหนังและมีตกเลือดตามอวัยวะภายในต่างๆ ได้แก่ ตับ ไต กระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งจะมีผลทำให้ช็อค ผู้ป่วยจึงเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้นๆ อัตราป่วย-ตาย มีตั้งแต่ร้อยละ 30 จนถึงร้อยละ 80 การระบาดในเริ่มต้นมีรายงานเฉพาะใน 2 ประเทศนั้น แต่ต่อมามีการระบาดซ้ำอีกหลายครั้งทั้งในประเทศซาอีร์ และประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา และมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากแอฟริกาแล้วไปแสดงอาการของโรคในประเทศยุโรป

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ก็อยู่ในกระบวนการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ส่วนการรักษาสามารถใช้ยาไรบาวิรินรักษาได้ โรคนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคจากประเทศอื่นที่อยู่นอกทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม โรคอีโบลานี้อุบัติขึ้นอาจเนื่องจากความแห้งแล้งอดอยากทำให้ลิงเข้าสู่หมู่บ้าน และอาจเกิดจากคนจับลิงมาฆ่าชำแหละนำไปปรุงเป็นอาหารบริโภค ส่วนเหตุที่เมืองเรสตัน เกิดจากการส่งลิงจากประเทศฟิลิปปินส์ไปจำหน่าย

เก็บความและภาพจาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม 4, 2552

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แหล่งที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=24&chap=8&page=t24-8-infodetail01.html