ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปี 2549 มีข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ และรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ รวมทั้งข่าวรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขปี 2549 ฉบับที่ 11 ได้รายงานถึงเรื่องโรคอาหารเป็นพิษจากการบริโภคหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่าน ที่ทางการแพทย์เรียกว่าโรคโบทูลิซัม และยังมีบางข่าวกล่าวว่าเป็นการระบาดของโบทูลิซัมครั้งใหญ่ที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป

หากจะมาทำความรู้จักกับโรคอุบัติใหม่เช่นโรคโบทูลิซัม ในหนังสือเรื่อง “ระบาดบันลือโลก เล่ม 4” ของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ ได้กล่าวถึงกำเนิดของโรคโบทูลิซัม และช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดไว้อย่างน่าสนใจ... 

กำเนิดของโรคโบทูลิซัม สามารถย้อนกลับไปไกลราวคริสตศตวรรษ ที่ 18 มีบันทึกการระบาดของโรคไส้กรอกเป็นพิษ (sausage poisoning) ที่แคว้นวือเต็มบวร์กทางภาคใต้ของเยอรมนี โรคทำนองเดียวกันนั้นเกิดระบาดอีกเมื่อปี พ.ศ. 2336 ที่เมืองวิลด์บาด มีผู้ป่วย 13 ราย ถึงแก่กรรม 6 ราย หลังการบริโภคไส้กรอกเลือด (blood sausage) เหตุการณ์ดังกล่าวดลใจให้ จุสตินุส แคร์เนอร์ แพทย์ประจำนครแห่งนั้นได้ทำการศึกษาค้นคว้าหาสาเหตุแห่งโรคจากข้อมูลผู้ป่วย 230 ราย และให้ชื่อโรคว่า “sausage หรือ fatty poison” แต่ในใบมรณบัตรที่ลงนามโดย แคร์เนอร์ ท่านลงสาเหตุการตายว่า“โรคหมอแคร์เนอร์ (Kerner’s disease)” ต่อมามีผู้เรียกชื่อโรคนี้ว่า botulism ตามภาษาละตินที่เรียกไส้กรอกว่า botulus นั่นเอง

อีก 80 ปีให้หลัง คือปี พ.ศ. 2438 มีการระบาดของโรคไส้กรอกเป็นพิษนี้ที่เมืองเล็กๆ ในเบลเยี่ยมชื่อเมืองเอลเลแซลส์ (Ellezelles) มีนักดนตรี 34 คน เป็นโรคเดียวกัน คือเป็นอัมพาตจากระบบประสาท(neuroparalysis)ภายหลังจากการบริโภคหมูแฮมรมควันในงานเลี้ยงอาหารเย็นของงานพิธีศพศาสตราจารย์จุลชีววิทยาท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเก็นท์(Ghent) เมื่อได้มีการศึกษาจึงพบเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคชื่อว่า Clostridium botulinum และยังมีคำกล่าวว่าเป็นการเกิดโรคจากสารชีวพิษ ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง ต่อมาการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษในลักษณะต่าง ๆอุบัติขึ้นประปราย มีโรคในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นและมีวิวัฒนาการของการรักษาด้วยสารต้านชีวพิษ (antitoxin) เกิดขึ้น โดยเฉพาะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.เอ็ดเวิร์ด ชานทซ์ เป็นผู้ทำสารพิษให้เป็นผลึกบริสุทธิ์เข้าใจว่านำไปเตรียมการผลิตอาวุธชีวภาพ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2524 มีการนำสารพิษนี้ทดลองรักษาโรคทางจักษุวิทยาโดยนายแพทย์ อลัน บี สก็อตต์ และหลังจากนั้นจึงมีการนำไปใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคต่างๆเพิ่มขึ้น กระทั่งสำนักงานบริหารอาหารและยาสหรัฐ ได้อนุญาตให้จำหน่ายได้อย่างเป็นทางการ

เชื้อ Clostridium botulinum เป็นแบคทีเรียทรงแท่ง ขนาดโต ติดสีแกรมบวก(ม่วง) สร้างสปอร์บริเวณใกล้ปลายแท่งแบคทีเรียคล้ายกับการสร้างเกราะให้ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมเจริญได้ดีในภาวะไร้ออกซิเจน มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม พบในตะกอนดินโคลน แหล่งน้ำจืด บ่อน้ำ ทะเลสาบ และตะกอนดินโคลนน้ำเค็ม ฝุ่นตามบ้านเรือน บนอาหารทั่วไป และในบริเวณที่มีพืชผักเน่าเปื่อย ดังนั้นจึงพบได้บ้างชั่วคราวในลำไส้นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลาและสัตว์ทะเลหลายชนิด

แบคทีเรียในรูปสปอร์จะทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีออกซิเจนได้ ทนความร้อนมาก สามารถมีชีวิตได้นาน 3 - 4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 105 องศา แต่ถูกทำให้ตายได้ที่ 121องศา ภายใต้ความดันไอน้ำ (หม้ออัดแรงดัน) ในเวลา 15 นาที สปอร์จะทนความแห้งอยู่ได้นานถึง 30 ปี ไม่ถูกทำลายโดยรังสีอุลตราไวโอเล็ท อัลกอฮอล์ และสารประกอบฟีโนลิก และค่อนข้างจะทนทานต่อการฉายรังสี แต่สปอร์จะถูกกระตุ้นให้งอกเป็นเซลล์แบคทีเรียได้หากถูกทำให้ร้อน 80 องศา เป็นเวลา 10 – 20 นาที สปอร์ถูกทำลายโดยคลอรีน จึงไม่สามารถอยู่ได้ในน้ำประปา น้ำในสระที่มีสารคลอรีน และน้ำยาฟอกขาวเจือจาง แบคทีเรียนี้หลังงอกจากสภาพสปอร์แล้ว ขณะอยู่ในสภาพเซลล์ จะสร้างสารชีวพิษซึ่งมีพิษต่อระบบประสาทของมนุษย์และสัตว์บางชนิด เรียกชื่อว่า โบทูลินุม ท็อกซิน (botulinum toxin), โบทูลินัส (botulinus), โบทูลิน (botulin)และที่จดทะเบียนจำหน่ายเป็นเภสัชภัณฑ์โดยมีปริมาณสารพิษน้อยจนไม่เกิดพิษ มีชื่อว่า โบท็อกซ์ (Botox: Allergan,Inc), ไมโอบล็อค (Myobloc: Elan Pharmaceuticals, Inc)

สารชีวพิษชื่อต่างๆ เหล่านี้ ยังมีความแตกต่างกันในลักษณะทางแอนติเจน โดยจำแนกตามสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคเป็น 7 ชนิด คือชีวพิษโบทูลินัมชนิด A, B, C, D, E, F และG (บางตำราว่ามี 8 ชนิด คือมีชนิด H เพิ่มขึ้นอีก 1 ชนิด)ชนิด A, B และ E เป็นสารพิษที่ก่อโรคมนุษย์ที่พบรุนแรงบ่อยจากการบริโภคอาหารคือชนิด A และ B ส่วนชนิด E พบปนเปื้อนมากับปลาหรืออาหารทะเล ในขณะที่ชนิด Cและ D ก่อโรคสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และปลา นอกจาก C.botulinum ที่สร้างสารชีวพิษนี้ ยังมี C. butyricum สร้างสารชีวพิษชนิด E ที่มักก่อโรค โบทูลิซัมทางเดินอาหาร(Intestinal botulism) ในทารกและหนุ่มสาว และมีรายงานว่าชนิด F ผลิตจาก C. baratii ก่อโรคชนิดที่เกิดจากการมีเชื้อเกาะอาศัยที่ผนังลำไส้ ซึ่งก่อโรคโบทูลิซัมทางเดินอาหารทั้งในทารกและหนุ่มสาว

สารชีวพิษเป็นสารที่ไม่มีสี ไร้กลิ่น ไร้รส เชื่อกันโดยทั่วไปว่า สารชีวพิษโบทูลินนี้มีพิษร้ายแรงที่สุด มากกว่าสารชีวพิษใดๆที่รู้จักกันในปัจจุบันสำหรับท็อกซิน ชนิด A ขนาดก่อพิษ (toxic dose)ประมาณว่าเท่ากับ 0.001 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมหากคนน้ำหนัก 70 กิโลกรัม กินโบทูลินในปริมาณประมาณ 70ไมโครกรัม จะทำให้เสียชีวิต ถ้าโดยการสูดหายใจจะใช้ปริมาณ 0.80 – 0.90 ไมโครกรัม และถ้าฉีดเข้าหลอดเลือดดำประมาณ 0.09 – 0.15 ไมโครกรัมก็มากพอที่จะปลิดชีวิตได้ ชนิด A จะทำให้เกิดอาการอัมพาตเป็นเวลานานกว่าชนิด B และนานมากตามปริมาณของท็อกซินที่ได้รับ และชนิด E จะมีอาการอัมพาตอยู่สั้นที่สุด ท็อกซิน ชนิด A, B, E และ F ก่อโรคในคนได้ ท็อกซินชนิด C และ D ตามธรรมชาติจะก่อโรคในนก ม้าและวัวควาย โดยสัตว์เหล่านั้นจะมีเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวอยู่ในลำไส้อยู่แล้ว ท็อกซินชนิด C, D และ G ทำให้เกิดโบทูลิซัมในสัตว์ประเภทลิงโดยการทดลองให้สูดหายใจหรือสูดดมทำให้เชื่อว่าคนอาจจะเกิดพิษจากการสูดดมได้ ท็อกซินชนิด G ยังไม่เคยมีรายงานว่าก่อโรคในคน นอกจากนี้ สายพันธุ์ของ C. botulinum นอกจากจะแบ่งตามแอนติเจนเป็นสารชีวพิษ A – G แล้ว ยังจัดจำแนกกลุ่มตามลักษณะการเพาะเลี้ยง และลักษณะที่แสดงออกทางชีวเคมีและดีเอ็นเออีกด้วย อย่างไรก็ตาม สารชีวพิษโบทูลินนี้สามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน 80 องศา นาน 5 นาที การปรุงอาหารให้สุกโดยต้มให้เดือดก่อนบริโภค จึงเป็นวิธีที่จะทำลายความเป็นพิษได้

เชื้อ Clostridium botulinum หรือสารชีวพิษ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ถึง  7 ลักษณะตามตำแหน่งของการรับเชื้อ การจำแนกประเภทของโรคโบทูลิซัม จึงแบ่งไปตามวิธีที่เกิดโรค คือ โบทูลิซัมจากบาดแผล (Wound botulism)รับเชื้อทางบาดแผล, โบทูลิซัมในทารก (Infant botulism) มีเชื้อมาอาศัยเกาะที่ผนังลำไส้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เนื่องจากในลำไส้ทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อ, โบทูลิซัมจากการบริโภคสารชีวพิษ (Foodborne botulism) จากการบริโภคอาหารที่ถนอมไว้บริโภค เช่น อาหารกระป๋อง อาหารอัดปี๊บ ที่ผลิตโดยไม่ถูกสุขลักษณะ , โบทูลิซัมทางเดินอาหารในผู้ใหญ่ (Adult intestinal toxemia botulism)การบริโภคอาหารที่มีสปอร์ของเชื้อโรคปนเปื้อนในกระบวนการการผลิต, โบทูลิซัมจากเวชปฏิบัติ (Iatrogenic botulism) จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เช่น การฉีดสารชีวพิษโบทูลินรักษาโรคเกินขนาดหรือใช้ผลิตภัณฑ์ปลอมเลียนแบบโบท็อกซ์ เพื่อรักษาโรคไมเกรน โรคกล้ามเนื้อกระตุก หนังตากระตุก เป็นต้น ,โบทูลิซัมจากการหายใจ (Inhalational botulism)การหายใจสูดดมละอองฝอยของสารชีวพิษก็อาจทำให้เกิดอาการได้,โบทูลิซัมจากการก่อการร้ายทางชีวภาพ (Biological bioterrorism) การตั้งใจทำร้ายจากคนบางกลุ่ม โดยนำเอาสารชีวพิษไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เอาไปปนเปื้อนลงในอาหาร น้ำ นมหรือนำไปฉีดพ่นตามจุดต่างๆ นับว่าเป็นการก่อการร้ายทางชีวภาพ (Biological Terrorism) เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้กับเชลยศึก หรือทางการสหรัฐและสหภาพโซเวียตก็ผลิตสารชีวพิษไว้ใช้ในสงคราม

ด้วยเหตุนี้ จากเหตุการณ์เมื่อปี 2549 ที่มีการระบาดพบโรคโบทูลิซัมจากหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่าน มีผู้ป่วยจำนวนมากถึง 163 รายนั้น แท้จริงแล้วโรคโบทูลิซัมได้อุบัติขึ้นทั่วโลกโดยวิธีการต่าง ๆ กันมาก่อนแล้ว เช่น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรีย มีชายวัย 38 ปี ป่วยด้วยโรคโบทูลิซัม ภายหลังการบริโภคพาสต้ากับหอยแมลงภู่สดในภัตตาคารแห่งหนึ่ง ตรวจพบสารชีวพิษโบทูลินุมบีในซีรัมและอุจจาระของผู้ป่วย เข้าใจว่าหอยที่รับประทานคงมีเชื้อ C. botulinum type B ปนเปื้อน หรือในปี 2546 ในประเทศเยอรมนีมีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยว่าเป็นโรคโบทูลิซัม 3 ราย เกิดอาการภายหลังจากการบริโภคปลาแห้งที่ทำจากปลาที่จับได้จากแม่น้ำเอลเบในภาคเหนือของเยอรมนี  หรือในปี 2548 สหรัฐอเมริกามีการระบาดของโบทูลิซัมในรัฐอลาสกา 2 ครั้งมีผู้ป่วย 4 รายที่เกิดโรคจากการบริโภคปลาแซลมอนรมควัน อาหารพื้นบ้านยอดนิยม รวมถึงในรัฐนอร์ดไรหน์-เวสท์ฟาเล็น มีรายงานผู้ป่วยโบทูลิซัมจากบาดแผลจำนวน 14 รายในผู้ฉีดยาเสพติด  เป็นต้น

เก็บความและภาพจาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม 4, 2552

เรื่องที่เกี่ยวข้อง