ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานแก้ไขค่ารักษา รพ.เอกชนแพงเกินจริง ชุด ‘นพ.ศุภชัย’ เป็นประธาน ได้ข้อสรุป 2 แนวทาง 1.ให้ประชาชนมีทางเลือกซื้อยาเอง 2.จัดทำรายละเอียดค่ายาให้ประชาชนทราบ มอบสภาเภสัชกรรม และ อย.หารือร่วม รพ.เอกชน หากตกลงได้ ให้เสนอ คกก.อำนวยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาแพง ที่มี รมว.สธ.และ รมว.พณ.เป็นประธานต่อไป คาด 2 สัปดาห์แล้วเสร็จ ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน มอบ สพฉ.ดูแล เน้น 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย ต้นสังกัดจ่ายตามสิทธิ

25 พ.ค.58 เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า ในการประชุมคณะทำงานดำเนินการแก้ไขปัญหาราคารักษาพยาบาลแพง ซึ่งตัวแทนจาก แพทยสภา สพฉ. สปสช. สมาคม รพ.เอกชน ร่วมประชุมโดยมี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เป็นประธานคณะทำงาน ใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชม. จึงได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหายาแพง มี 2 แนวทาง ให้เป็นทางเลือก คือ

1.ให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อยาเอง โดยสามารถนำใบสั่งยาจากโรงพยาบาลเอกชน ไปซื้อที่ร้านขายยาได้ เพื่อความสบายใจ แต่ต้องมีการพัฒนาร้านขายยาให้ได้มาตรฐาน

2.ให้มีการจัดทำรายละเอียดค่ายาให้ประชาชนทราบในการสั่งจ่ายยา ซึ่งจะทราบทั้งราคายาพื้นฐาน ค่าส่วนต่าง ค่าขนส่ง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ

ทั้งนี้ทั้ง 2 แนวทางจะมอบให้ทางสภาเภสัชกรรม และ อย. หารือร่วมกับ รพ.เอกชน หากตกลงกันได้ ก็ให้เสนอไปยังคณะอำนวยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ที่มี รมว.สาธารณสุข และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 2 สัปดาห์แล้วเสร็จ ส่วนความคืบหน้าการจัดทำเว็บไซด์ ค่ารักษาพยาบาล ขณะนี้อยู่ในระหว่าการรวบรวมข้อมูลนำโรคที่ไม่ฉุกเฉิน 77 กลุ่มอาการของแต่ละ รพ.มาให้ประชาชนเปรียบเทียบเป็นข้อมูลตัดสินใจก่อนการรักษา โดยจะลิ้งค์กับ รพ.เอกชนนั้นๆ ด้วย

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ส่วนแนวทางการรักษาฉุกเฉินนั้น เบื้องต้นมอบสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดนิยามเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากกรณีสงสัยสามารถออนไลน์สอบถามโดยตรงที่ สพฉ. เบื้องต้นกำหนดเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องนอน รพ.นานกว่านั้นให้ส่งต่อ รพ.ต้นสังกัดตามสิทธิรักษา ทั้ง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพ โดย สพฉ.รับทำหน้าที่บริหารจัดการค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้นกรณีผู้ป่วยไม่ยอมย้ายก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ทาง สพฉ. เตรียมของบประมาณสนับสนุนในเรื่องอีก 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จะมีข้อยุติได้ภายใน 1 เดือน

ขอบคุณภาพจาก facebook/กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส.