ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงหรือแพงมหาโหด มีต้นเหตุทั้งที่สมควรและไม่สมควร

แต่ก่อน ค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นระบบ “ยาขอหมอวาน” ค่าบริการพื้นฐานส่วนมากคือค่ายกครู ซึ่งหมอแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนด เป็นราคาที่เป็นที่ยอมรับได้ ไม่สูง เพราะหมอส่วนมากมีอาชีพพื้นฐาน เช่น เป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน หรือ ช่าง อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ทำด้วยใจรักและเมตตาหรือเป็นวิชาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ต้องการรักษาไว้ ปัจจุบันระบบดังกล่าวยังคงเหลืออยู่ในระบบ “หมอพื้นบ้าน” ที่ชาวบ้านเยียวยารักษาและช่วยเหลือกันเองในชนบท

ปัจจุบันการรักษาพยาบาลมีต้นทุน ทั้งในระบบโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลรัฐราคาย่อมเยากว่า เพราะรัฐใช้งบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคาร เครื่องมือ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และ ค่าใช้สอยต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องแพงกว่าในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สมควรและยอมรับได้

ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โรงพยาบาลจะคิดค่าบริการใน 2 ลักษณะ คือถ้าเป็นคนไข้นอก (Out Patient Department หรือ OPD) จะคิดเป็นค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัย ค่า “หัตถการ” (Procedure) หรือ ค่ารักษา และค่าธรรมเนียมแพทย์ ถ้าเป็นคนไข้ใน (In Patient Department หรือ IPD) จะรวมค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่าพยาบาลพิเศษ (ถ้ามี) ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และอื่นๆ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดราคาเอง แม้ราคาจะแตกต่างกันได้มาก แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่สมควรและยอมรับได้ ถ้าเป็นการใช้จ่ายในการตรวจรักษาที่จำเป็นและสมควรตาม “มาตรฐานวิชาชีพ”

ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ปัจจุบันแพงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากราคาที่ดินที่แพงขึ้นมากแล้ว ยังเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ เหตุแรก คือ มีการพัฒนายาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิผลในการรักษาสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ต้องมีการควบคุมกำกับ โดยการ “ประเมินเทคโนโลยี” (Technology Assessment) อย่างเป็นระบบ เพื่อคัดกรองนำมาใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล ความปลอดภัย และคุ้มค่า ไม่เช่นนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแพงมาก และควบคุมไม่ได้ เหตุที่สอง ที่มีผลมากต่อราคายาใหม่ๆ ก็คือ ระบบสิทธิบัตร ที่ทำให้เกิดการผูกขาดและตั้งราคาตามใจชอบ ดังตัวอย่างที่ชัดเจนกรณียาโรคหัวใจราคาเม็ดละ 70 บาท เมื่อกระทรวงสาธารณสุขใช้สิทธิตามมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing หรือ CL) สามารถซื้อได้ในราคาเพียงเม็ดละ 1.06 บาท เท่านั้น

ส่วนที่สอง ที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าคือ ส่วนของกำไร ซึ่งก็เป็นส่วนที่สมควรและยอมรับได้ ถ้าไม่เป็นการ “ค้ากำไรเกินควร”

สำหรับสาเหตุที่ไม่สมควรและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพง หรือ แพงมหาโหด  เกิดจากระบบบริการที่ฉ้อฉล และระบบการควบคุมตรวจสอบล้มเหลว

เหตุดังกล่าว คือ การให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และรับไว้ในโรงพยาบาลที่เกินสมควร ไม่จำเป็น ในลักษณะจงใจเพิ่มรายได้และผลกำไร กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน มากกว่าในโรงพยาบาลของรัฐ แยกเป็นกรณีต่างๆ ได้ดังนี้

กรณีแรก เป็นกรณีการจ่ายยาที่เกินจำเป็น ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้เป็นไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคที่ส่วนมากหายได้เอง (Self-limited disease) ยาที่จำเป็นเพื่อบรรเทาอาการคือ ยาลดไข้ และยาบรรเทาอาการอื่น เช่น ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้ไอ-ขับเสมหะ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมิใช่สาเหตุของโรค สมัยก่อน มาตรฐานการรักษากำหนดว่า ถ้าเสมหะเริ่มเป็นสีเหลือง แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนให้ใช้ยาปฏิชีวนะได้ ปัจจุบัน พบว่าเสมหะที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเป็นลักษณะปกติของโรค เพราะเป็นปฏิกิริยาของร่างกายในการกำจัดเชื้อไวรัส สีของเสมหะที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกิดจากเม็ดเลือดขาวที่ถูกทำลายในการ “รบ” กับเชื้อไวรัส จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

โดยเฉพาะในเด็ก แต่ก่อนมักใช้ยาลดน้ำมูก ต่อมาพบว่า การให้ยาลดน้ำมูกมักทำให้ทั้งน้ำมูกและเสมหะข้น อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะระบบหายใจอุดตัน ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่เด็กได้ จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาลดน้ำมูกในเด็ก แต่ใช้การดูดหรือเช็ดน้ำมูกให้เด็กแทน ยา “แก้ไอ” ก็ไม่ควรใช้ การให้ยา “แก้ไอ” เป็นการไปกดระบบป้องกันตัวเอง (Defense mechanism) ในการขจัดเชื้อโรคของเด็ก อาจทำให้เป็นอันตรายได้ หากเด็กไอจึงควรใช้ยาละลายเสมหะ หรือยาขับเสมหะ (Expectorant) แทน

แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลที่มุ่งทำรายได้ และเพิ่มผลกำไรเป็นสรณะ แพทย์จะสั่งยาให้คนไข้ถุงโต เพื่อให้โรงพยาบาลมีรายได้มากขึ้น คนไข้ส่วนมากก็จะ “พอใจ” ที่ได้ยามามาก จนอาจยอมรับได้ที่ต้องจ่ายในราคาแพง และคนไข้โดยมากมักมีมายาคติว่า ถ้า “ยาแพงแสดงว่าเป็นยาดี”

มายาคติดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลที่มุ่งรายได้และผลกำไร จะจ่ายยา “ราคาแพง” ให้แก่คนไข้ เพราะเมื่อคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ จะได้กำไรเป็น “เม็ดเงิน” เป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่น ยาบรรเทาหวัด   ลดน้ำมูกดั้งเดิม คือ คลอร์เฟนิรามีน (Chorpheniramine) ต้นทุนเม็ดละ 10 สตางค์ ถ้าคิดกำไร 30% จะได้เพียง 3 สตางค์ ถ้าจ่าย 20 เม็ด ก็จะได้กำไรเพียง 60 สตางค์ แต่ถ้าจ่ายยาแก้หวัด ชนิด “ไม่ง่วง” ราคาเม็ดละ 50 บาท คิดกำไร 30% จ่าย 20 เม็ด ก็จะกำไรถึง 300 บาท

ในโลกทุนนิยม มนุษย์ซึ่งชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” (Homo sapiens sapiens) จะถูกหล่อหลอม จนกลายเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” (Homo economicus) กรณีการจ่ายยาแพงเพื่อเอากำไรมากๆ จึงกลายเป็นเรื่องปกติ หรือยอมรับได้ทั่วไปจนกลายเป็น “ปทัสถานที่เบี่ยงเบน” (Deviant Norm) ไปในที่สุด โดยมนุษย์ก็จะใช้ส่วนของการเป็น “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” หาเหตุผลมาอธิบายการจ่ายยาราคาแพงว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพราะคนไข้ย่อมต้องการกินยาที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วง ทั้งๆ ที่ยาเหล่านั้น มักเป็น “ยาใหม่” ซึ่งมีการพัฒนาสรรพคุณและความปลอดภัยจนสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาทั่วโลกได้ แต่เพราะเป็นยาใหม่ จึงมีข้อมูลเรื่อง “ความปลอดภัย” จำกัด ดังปรากฏว่ามียาตัวใหม่บางตัว พบว่ามี “ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์” (Adverse Reaction) ที่รุนแรงถึงตาย จนต้องเรียกคืนยาและเพิกถอนทะเบียน ปรากฏเป็นข่าวประปราย การกินยาใหม่ ในด้านหนึ่ง คนที่กินยานั้นจึงกลายสภาพเป็น “หนูตะเภา” ทดลองความปลอดภัยของยาไปโดยปริยาย และแท้ที่จริง เมื่อเป็นไข้หวัด ร่างกายย่อมต้องการการพักผ่อน การกินยาราคาถูกที่มีข้อมูลความปลอดภัยสะสมมายาวนาน และทำให้ง่วง ย่อมเป็นผลดีต่อการหายของโรคด้วย แต่เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ มักจะถูกมองข้ามไปหมด

ตัวอย่าง กรณีเช่นนี้มีมากมาย ขอยกอีกตัวอย่างเดียว คือ กรณีท้องเสีย ซึ่งส่วนมากก็เป็นโรคหายเองได้ เพราะอาการท้องเสียคือกลไกของร่างกายในการขจัดเชื้อโรคออกไป เมื่อเชื้อหมดโรคก็หายไปได้เอง ความจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อโรคมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในเด็ก เชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาปฏิชีวนะที่จะฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านั้นได้ การรักษาที่สำคัญคือการให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนที่เสียไปจากอาการท้องเสีย ซึ่งส่วนมากสามารถทดแทนได้โดยกินน้ำตาลเกลือแร่ราคาถูกๆ หรือในผู้ใหญ่อาจใช้น้ำอัดลม  ใส่เกลือก็บรรเทาอาการขาดน้ำและหายจากโรคได้

กรณีดังกล่าวนี้ เมื่อไปโรงพยาบาลเอกชน แทนที่จะหายจากโรคโดยเสียค่าน้ำตาลเกลือแร่ไม่กี่สตางค์ ก็อาจจะถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลนับพัน นับหมื่น หรือนับแสนได้

ขออภัย หน้ากระดาษหมดเสียแล้ว โปรดติดตามตอนต่อไป รพ.เอกชนค่ารักษาแพง ปัญหาและทางออก (2)

ผู้เขียน : นพ.วิชัย โชควิวัฒน