ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.สรุปผลประชุมแก้ไขค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง ใช้ 3 แนวทางให้แล้วเสร็จในระยะเร่งด่วน 1 เดือนโดยตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ให้ดำเนินการ 3 เรื่องคือรวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน ขึ้นเวปไซต์กลางของกระทรวงสาธารณสุข เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน และเข้มกฎหมายการบริการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาชีวิตประชาชน โดยทำคู่ขนานกันไปกับการแก้ไขเรื่องราคายา ค่าหัตถการ ให้มีราคาเหมาะสม

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมมาตรการแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชน ผู้เข้าประชุมวันนี้ประกอบด้วย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการแพทยสภา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ นายกสภาเภสัชกรรม หัวหน้าสำนักวิชาการสำนักงานปลัดกระทรงสาธารณสุข

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน ตั้งเป้าหมายการทำงาน จะทำให้เร็วที่สุด เพราะอยู่ในความสนใจประชาชน โดยได้รับการร้องเรียนจากประชาชนใน 3 ประเด็นคือค่ารักษาพยาบาลแพง คิดค่ารักษาเกินจากความเป็นจริงและการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ที่ประชุมได้มีการทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราคาสินค้าและบริการของโรงพยาบาลเอกชนคือ พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการพ.ศ.2542 รวมทั้งประสบการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สปสช.ที่เกี่ยวข้องในเรื่องระบบริการผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ตามนโยบายรัฐบาล พ.ศ. 2555 ได้ลงนามในบันทึกความร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้ระบุรายสถานพยาบาล ผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปี มีผู้ใช้บริการฉุกเฉินประมาณ 6 หมื่นราย เฉลี่ย 2000 รายต่อเดือน โดยมีประชาชนร้องเรียนถูกเรียกเก็บ 5 ราย ส่วนสายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในปี 2558 ได้รับ 187 เรื่อง เป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลสูง 19 ราย ส่วนของสคบ.ได้รับการร้องเรียนเรื่องค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงปีละ100 กว่าราย โดยได้มีการเจรจาไกลเกลี่ย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า จากการหารือประเด็นรายละเอียดทั้งหมด ที่ประชุมได้แยกการวิเคราะห์ที่มาของค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนแพง ซึ่งมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่ายา ค่าบริการอื่นๆ เช่นเวชภัณฑ์ ค่าหัตถการ ค่าตรวจวินิจฉัย ที่ใช้เครื่องมือราคาแพง รวมทั้งค่าห้อง ค่าอาหาร สถานที่ แนวทางการแก้ไข เรื่องนี้ในระยะเร่งด่วนได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการใน 3 เรื่อง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ได้แก่ 1.รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเวปไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบ ก่อนเลือกตัดสินใจเข้ารับบริการ และให้หน่วยงานอื่นๆสามารถเชื่อมต่อไปใช้ได้ เช่น สปสช. สคบ. เป็นต้น

2.เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3 หมายเลข คือสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค หมายเลข 1166 ในเวลาราชการ สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 02 –193 7999 และสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะเป็นศูนย์กลางดำเนินการแก้ไขตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยเร็วที่สุด 3.เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกทีสิทธิ์ ไม่เรียกเก็บเงินจากประชาชน โดยจะจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตให้ชัดเจน และระบบการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลจากกองทุนกลาง โดยจะมีการตกลงราคาที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลทั้งหมดทั้งรัฐ เอกชน เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องใช้เวลาแก้ไขพอสมควร เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากและเกี่ยวข้องหน่วยงานหลายฝ่าย โดยจะดำเนินการคู่ขนานกันไป ในเรื่องราคายา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามขอบเขตอำนาจที่มีใช้อยู่คือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 ของกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะบังคับใช้ให้เข้มข้นขึ้น รวมทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ จะพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดประชาชน ในส่วนเรื่องการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ รักษาความปลอดภัยชีวิตของประชาชน อาจจะออกเป็นประกาศควบคุมราคาค่าบริการป่วยวิกฤติฉุกเฉิน เพื่อนำเสนอ ครม.ประกาศใช้โดยเร็ว