ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.นวนรรน’ หมอรามาธิบดี ไม่เห็นด้วยวิธีการร่วมจ่าย เพื่อหาเงินเข้ามาเพิ่มในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชี้สร้างความลำบากให้ประชาชน เหตุแต่ละกลุ่มมีฐานะแตกต่างกัน แต่หากจะให้เก็บเฉพาะคนรวย ก็ไม่ถูกต้อง จะทำให้คนจนกลายเป็นผู้ป่วยอนาถา ยันหลักสำคัญของหลักประกันสุขภาพคือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แท้เกบเงินคนรวยก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีฐานะการเงินดีตลอดไป หากป่วยด้วยโรคมะเร็ง ก็มีสิทธิล้มละลายได้ แนะ สปสช.รวบรวมข้อเท็จจริง ผลการศึกษาเพื่อของบประมาณเพิ่ม และนำมาพัฒนา รพ.รองรับผู้ป่วย

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ (ขอบคุณภาพจาก www.tc.umn.edu)

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการร่วมจ่ายในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงประเด็นร่วมจ่าย เพื่อต้องการให้นำเงินเข้ามาเพิ่มในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ในฐานะเป็นแพทย์คนหนึ่งในแวดวงสาธารณสุข เห็นว่าการร่วมจ่ายต้องคิดให้รอบด้าน เพราะหากต้องร่วมจ่ายถึงหลัก 100 บาท ก็จะเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับประชาชน เนื่องจากคนแต่ละกลุ่มมีฐานะแตกต่างกัน ทั้งยังจะทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนจนคนรวย โดยให้เก็บเงินเฉพาะคนรวยนั้น ตนมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะแบ่งแยกชัดเจน และคนจนจำนวนหนึ่งจะรู้สึกว่าเป็นกลุ่มอนาถา

นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า การเก็บเงินเฉพาะคนรวย ก็ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะมีฐานะทางการเงินที่ดีเช่นนี้ตลอด เพราะในอนาคตหากเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังรักษายาก มีสิทธิถึงขั้นล้มละลายได้ ถึงตอนนั้นจากคนรวยก็เป็นคนจนทันที จุดสำคัญอยู่ที่ต้องยึดหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีหลักการชัดเจนว่า เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเจ็บป่วยทั้งหมด ดังนั้น ประเด็นร่วมจ่ายจึงไม่ใช่ทางออก

“หากพิจารณาดีๆ การร่วมจ่ายไม่ได้ช่วยให้เงินเข้ามาสู่ระบบหลักประกันสุขภาพฯมากนัก เพียงแต่กรณีการร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการช่วยให้คนไม่รู้สึกว่า การเข้าหา รพ.ง่ายจนเกินไป เนื่องจากหากป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องเข้า รพ.กันหมด ก็ไม่ใช่ กลายเป็นแห่มารักษา ทั้งๆ ที่หากปวดศีรษะ ก็นอนพักรักษาตัวได้ ดังนั้น หากไม่มีการเก็บเงินเลย ก็จะทำให้คนไม่อยากดูแลตัวเอง” นพ.นวนรรน กล่าว และว่า สิ่งสำคัญคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ ในการจ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวให้สถานพยาบาลของรัฐดูแลประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ควรต้องหาเม็ดเงินเข้าระบบมากขึ้น ด้วยการของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล โดยต้องรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งหาผลการศึกษามาช่วยอีกทางหนึ่ง

เมื่อถามว่าการไม่มีงบประมาณเพิ่มเติม ส่งผลต่อการพัฒนาของ รพ.ด้วยหรือไม่ นพ.นวนรรน กล่าวว่า มีส่วน ยิ่งขณะนี้ รพ.รัฐจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น ดังนั้น งบประมาณก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะทั้งในเรื่องทรัพยากรบุคคล การพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้น