ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ รพ.รามาธิบดี เรียกร้องคณบดีคนใหม่ฟื้นจิตวิญญาณรับใช้ประชาชน อย่ามองเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว พร้อมปรับท่าทีต่ออาจารย์บรรจุใหม่ อย่าใช้ระบบบังคับบันทึกภาระงาน สร้างแรงกดดัน ตรงข้ามหลักการส่งเสริมบุคลากร

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ (ขอบคุณภาพจาก www.tc.umn.edu)

ดร.นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อยากเรียกร้องคณบดีคณะแพทยศาสตร์คนใหม่ ซึ่งกำลังจะมีการคัดเลือกในเร็วๆนี้ ให้บริหารงานโดยสร้างจุดสมดุลย์ระหว่างจิตวิญญาณของความเป็นรามาฯ ที่มีใจรับใช้ชุมชน กับความอยู่รอดขององค์กร เนื่องจากโดยส่วนตัวรู้สึกกังวลว่าในช่วงหลังมานี้ การบริหารงานมุ่งเน้นไปที่ไปที่เรื่องเงินและผลกำไร วงสนทนาของผู้บริหารก็จะคุยแต่เรื่องเงินเป็นประเด็นหลัก และไม่ได้มองถึงการขับเคลื่อนงานที่สร้างผลกระทบต่อสังคมมากนัก

"รามาฯก็เหมือนองค์กรอื่นๆ ที่วิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ซึ่งต้นกำเนิดของรามาฯ นั้นเกิดจากอาจารย์แพทย์ที่มีใจรับใช้สังคม ตลอด 40-50 ปีที่ผ่านมา ทั้งศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ รวมถึงอาจารย์ของรามาฯ ก็ได้สร้างคุณูปการกับสังคมอย่างมาก อาทิ นพ.สงวน (นิตยารัมภ์พงศ์) นพ.ประกิต (วาทีสาธกกิจ) รวมถึง รัฐมนตรี และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุขคนปัจจุบัน และคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยชื่ออีกมากมาย แต่รามาฯ ในช่วงหลัง องค์กรใหญ่ขึ้น มีคนมากขึ้น ระบบบริหารงานซับซ้อนมากขึ้น ก็ทำให้จิตวิญญาณรามาฯ มันลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งเกิดจากธรรมชาติองค์กรที่เติบโตขึ้น อีกส่วนก็คือแรงกดดันจากสังคม ทั้งความคาดหวังของประชาชน หรือเรื่องสถานะทางการเงิน ซึ่งผมก็เข้าใจโครงสร้างปัญหานี้นะ แต่มัน Extreme ไปหน่อยที่เน้นเรื่องเงินและทำอะไรต้องมีกำไร" นพ.นวนรรน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่โรงพยาบาลรัฐปัจจุบัน เริ่มปรับตัวด้วยการสร้างโรงพยาบาลมาจับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความสามารถในการจ่ายแข่งกับโรงพยาบาลเอกชนนั้น นพ.นวนรรน มองว่า เป็นข้อจำกัดของระบบสุขภาพในไทยเอง เพราะต้องยอมรับว่ารายได้จากระบบ 30 บาท หรือระบบประกันสังคมไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ขาดทุนจนต้องปรับตัวเพื่อหาเงินมาจุนเจือส่วนที่ขาดทุน ซึ่งหากรัฐใส่เงินเข้ามาในระบบมากขึ้น ก็จะช่วยให้โรงพยาบาลไม่ต้องดิ้นรนในการปรับตัว แต่กระนั้นการปรับตัวไปจับกลุ่มผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายก็ไม่จำเป็นต้องเสียจิตวิญญาณไป เพราะหากเอาผลกำไรมาจุนเจือคนที่ด้อยโอกาสก็เป็นเรื่องดี แต่หากนำเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี

"จุดสมดุลย์ระหว่างอุดมการณ์และความอยู่รอดคือตรงไหนผมเองก็ไม่รู้ แต่อยากจะโยนโจทย์ให้คณบดีคนใหม่พิจารณาหาทางดู" นพ.นวนรรน กล่าว

นอกจากนี้แล้ว นพ.นวนรรน ยังเรียกร้องให้คณบดีคนใหม่ ให้ความสำคัญกับมาตรการเชิงบวกในการบริหารบุคคลากร โดยขณะนี้อาจารย์ใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงาน กำลังอยู่ในภาวะเครียดและกดดัน จากโครงการ Talent management แต่พูดไม่ออกและไม่กล้าพูด เพราะเป็นเด็กเพิ่งบรรจุได้ไม่กี่ปี ยังอ่อนอาวุโส

"เรามองว่าคนที่มี Talent ก็ต้องหาทางส่งเสริมให้เขามีโอกาสได้ฉายแวว ซึ่งต่างจากแนวคิดแบบเดิมที่เป็นระบบ enforce ว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พอมีโครงการ Talent management ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงจะมีชื่อว่าเป็นระบบส่งเสริมคนที่มี Talent แต่กลับมีการบังคับอาจารย์บรรจุใหม่ให้เข้าโครงการ ต้องมีการทำวิจัย มีการบันทึกภาระงานอย่างละเอียดยิบว่าทำงานกี่ชั่วโมง สอนกี่ชั่วโมง มันตรงข้ามกับการส่งเสริมบุคคลากร เรียกว่าเอาไม้เรียวมาฟาด ถึงขนาดที่ถ้างานไม่ออกก็ให้ออกจากงานเลย แทนที่จะเอามาตรการเชิงบวกในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน"

"ไม่ใช่ว่าผมคัดค้านเพราะอยากทำงานไปวันๆ นะ แต่ท่าทีที่กดดัน มันทำให้คนทำงานเสียกำลังใจ ขนาดคนที่บรรจุก่อนมีโครงการนี้ยังพูดว่าโชคดีมากที่ไม่โดน ก็ลองดูว่าคนที่โดนจะรู้สึกอย่างไร" นพ.นวนรรน กล่าว