ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรผู้บริโภคขอ สบส.ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและผู้บริโภค เข้าร่วมเจรจาหาแนวทางคุมค่ารักษา รพ.เอกชนแพงเกินจริง ชี้หยุดเป็นคุณพ่อรู้ดี ต้องให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย พร้อมหนุนข้อเสนอเร่งด่วนใน 1 เดือน ให้ รมว.สธ.ออกประกาศห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้ผู้บริโภคมีสิทธิซื้อยานอก รพ. พร้อมหนุนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคงข้อความ กำกับควบคุมราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ

นางสาวสุภาภรณ์ ถิ่นวัฒนากูล

วันนี้ (19 พ.ค.) นางสาวสุภาภรณ์ ถิ่นวัฒนากูล กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายไม่ใช่มีการประชุมเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น เพราะจะไม่ได้รับการยอมรับในการแก้ไขปัญหาจากผู้ป่วยและผู้บริโภค พร้อมย้ำต้องให้รัฐมนตรีออกประกาศยุติการเรียกเก็บเงินในกรณีฉุกเฉินและให้ผู้บริโภคมีสิทธิซื้อยานอกหน่วยบริการ และสนับสนุนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญการปฏิรูปด้านสาธารณสุข  ในมาตรา 294 (4) โดยให้คงข้อความ “ให้มีการพัฒนากลไกกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ”

รายละเอียดข้อเรียกร้องทั้งหมดมีดังนี้

เครือข่ายผู้บริโภคขอเสนอ มาตรการเร่งด่วนในกรณีฉุกเฉิน ให้มีการดำเนินการ ดังนี้

1. ให้ รมว.สธ.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 35(4) ประกอบมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.1 ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ยุติการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

1.2 ให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นมีหน้าที่ในการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ตามสิทธิ

1.3 ให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับราคากลางในการจ่ายกรณีฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน (สปสช. สปส. กรมบัญชีกลาง) 

1.4 ทำความร่วมมือกับรถบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้ความสำคัญกับการจัดส่งผู้ป่วยในสถานพยาบาลของรัฐแทนหน่วยเอกชนที่ใกล้เคียง รวมทั้งพัฒนาหน่วยบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและบริการในกรณีฉุกเฉิน

ข้อเสนอการควบคุมค่ารักษาพยาบาลและค่ายา

1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายและมีสัดส่วนผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

2. ให้คณะกรรมการฯ ข้างต้นทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ และได้ข้อมูลที่ครบถ้วนในการตัดสินใจ โดยสนับสนุนให้ผู้ป่วยและผู้บริโภคสามารถซื้อยาและเวชภัณฑ์นอกโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้บริโภคที่มีและได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

3. ให้คณะกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนว่า มีการตรวจรักษาเกินจริง หรือไม่จำเป็นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพื่อให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถูกลงและเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

4. ให้ความรู้กับผู้ป่วยและญาติให้เกิดความเข้าในในแนวทางการรักษาพยาบาลเพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการรักษามากยิ่งขึ้น (consumer practices guild lines)

5. ให้มีบริการสำหรับผู้ป่วยและผู้บริโภคในการหาความเห็นที่สองในการรักษาพยาบาล (second opinion)

6. เร่งดำเนินการให้มีแพทย์ประจำครอบครัวเพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านสุขภาพ และช่วยสนับสนุนการดูสุขภาพของครอบครัวนั้นๆ

รวมทั้งขอให้คณะกรรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนับสนุนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญการปฏิรูปด้านสาธารณสุข  ในมาตรา 294 (4) “ให้มีการพัฒนากลไกกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ” 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง