ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แหล่งข่าวจากรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกา หรือ “เมดิแคร์” ได้จ่ายงบประมาณกว่า 4.5 พันล้านดอลลาห์ เพื่อซื้อยารักษาโรคตับอักเสบซีตัวใหม่ ซึ่งมีราคาที่สูงมาก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าการรักษาในรูปแบบเดิมถึง 15 เท่าตัว   

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนของการจัดซื้อยาใหม่เหล่านี้ เมื่อคิดเป็นตัวเงินอาจสูงถึง 1,000 ดอลล่าห์ต่อวันหรือมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ย่อมจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ เพราะงบอุดหนุนในการให้ความครอบคลุมด้านยาในระบบเมดิแคร์นั้นมาจากภาษีของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 39 ล้านคน และคนพิการที่ขึ้นทะเบียนไว้ก็คงต้องช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน  ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่คนกลุ่มนี้ก็ต้องแบกรับภาระจากการปรับเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพและการจัดเก็บเงินร่วมจ่ายค่ารักษาในอัตราสูงสุด   

นักวิจัยจากบริษัท Gilead Science กำลังสังเคราะห์ยาที่สามารถต้านไวรัสตับอักเสบซี ณ ห้องปฏิบัติการของบริษัทในปี 2012 (2555) ภาพประกอบโดย : David Paul Morris/Bloomberg via Getty Images

นายฌอน คาวานุช ผู้อำนวยการเมดิแคร์และผู้ช่วยผู้บริหารศูนย์บริการเมดิแคร์และเมดิเคด (Centers for Medicare and Medicaid Services : CMS) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2013 (พ.ศ.2556) ในหมวดที่เรียกว่า "Part D" ซึ่งเป็นระบบประกันเพิ่มเติมสำหรับความครอบคลุมค่ายาตามใบสั่งแพทย์ เมดิแคร์ได้ใช้งบประมาณในหมวดนี้ไปเพียง 286 ล้านดอลล่าห์เพื่อจัดซื้อยาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นก่อนหน้านี้ 

สำหรับ ยาใหม่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ได้แก่  Sovaldi มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 84,000 ดอลล่าห์ ต่อ 1 คอร์สการรักษาที่ใช้เวลานานถึง 12 สัปดาห์  ซึ่งจากการคำนวณพบว่าจะต้องจ่ายงบประมาณในซื้อยาตัวนี้มากกว่า 3 พันล้านดอลล่าห์ ส่วนยาต้านไวรัสตัวอื่นคือ Harvoni แม้จะเพิ่งนำเข้าสู่ตลาดในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ก็มียอดสั่งซื้อแล้วถึง 670 ล้านดอลล่าห์   ในขณะที่ยาตัวที่ 3 คือ Olysio ซึ่งต้องฉีดควบคู่กับยา Sovaldi ล่าสุดก็มียอดขายสูงถึง 821 ล้านดอลล่าห์ และเนื่องจาก ในปี 2014 (พ.ศ.2557) เมดิแคร์ยังคงต้องจ่ายงบประมาณกว่า 157 ล้านดอลล่าห์ในการจัดซื้อยาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นเก่า ส่งผลให้ยอดรวมของงบประมาณในการจัดซื้อยากลุ่มนี้เมื่อปีที่ผ่านมาสูงกว่า 4.7 พันล้านดอลล่าห์

จะเห็นได้ว่างบประมาณในการรักษาโรคนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน  ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบประกันค่ายาในหมวด “Part D” ที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 9 ปีนั้น ได้รับประโยชน์จากการที่ยาหลายตัวได้หมดความคุ้มครองฯ ตามสิทธิบัตรยาไม่ว่าจะเป็นยาที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดอย่าง Lipitor และ Plavix ซึ่งเป็นยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด นอกจากจะหมดความคุ้มครองตามสิทธิบัตรแล้ว ยาเหล่านี้ยังจะต้องแข่งขันด้านราคากับกลุ่มยาสามัญอีกด้วย และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของ Part D ชะลอตัวลง  

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีตัวใหม่ร่วมกับยาตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันซึ่งต่างก็มีราคาสูง ส่อเค้าว่าจะทำให้ค่าใช่จ่ายในการรักษาพุ่งสูงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ ในขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านรายจ่ายของเมดิแคร์ระบุว่า ในปี 2013 (พ.ศ.2556) รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในหมวด Part D ไปประมาณ 65 ล้านดอลลาห์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมค่าเบี้ยประกันรายเดือนที่คนไข้จะต้องจ่าย

บทวิเคราะห์ฉบับหนึ่งที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ "Health Affairs" วารสารด้านนโยบายสาธารณสุข คาดการณ์ว่า มีผู้รับสิทธิภายใต้ในระบบเมดิแคร์กว่า 350,000 คนที่ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยคนส่วนใหญ่น่าจะยังไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวคาดการณ์จากจำนวนของคนในยุค Baby Boomers ซึ่งมีอายุถึงเกณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองในระบบเมดิแคร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบซีสูงสุด

โดยทั่วไป รัฐบาลจะใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีขึ้นไปในการประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านยา แต่การที่ CMS ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาต้านไวรัสตับอักเสบซีแก่สำนักข่าวออนไลน์โปรพับลิกา ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องด้านเสรีภาพตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารและเพื่อติดตามข้อซักถามต่างๆ

เจ้าหน้าที่ของเมดิแคร์กล่าวว่าพวกเขากำลังติดตามและเฝ้าระวังเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด และตัวชี้วัดในเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าค่าใช่จ่ายในปีนี้จะเป็นไปตามแผนคืออยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อปีที่แล้วหรือมากกว่า 

"พวกเราทุกคนต่างจับตาดูอยู่ไม่ว่าระดับค่าใช้จ่ายจะทะยานสูงขึ้นหรือลดต่ำลง และเมื่อไหร่ที่อุปสงค์คงค้างซึ่งสะสมมาจากช่วงก่อนหน้าจะอิ่มตัว ?” นายคาวานุช กล่าว

เมื่อพิจารณายอดค่าใช้จ่ายเฉพาะแค่ปี 2014 (พ.ศ.2557) ดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบเมคิแคร์จะสูงกว่าเมดิเคด ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยอยู่ค่อนข้างมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ระบบเมดิแคร์มียอดค่าใช้จ่ายด้านยารวมแล้วกว่า 1.2 พันล้านดอลลาห์ (ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ส่วนภาพรวมตลอดทั้งปียังไม่มีการเปิดเผย )

โปรแกรมการให้บริการในระบบเมดิเคดในหลายๆ ด้านมีความคล้ายคลึงกับการประกันสุขภาพของเอกชน กล่าวคือ มีความเข้มงวดในการเลือกจ่ายยามากกว่าในระบบเมดิแคร์ และส่วนใหญ่มักจะระบุเงื่อนไขว่าคนไข้ต้องมีอาการของโรคตับในระยะลุกลามก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับยารักษาโรค ในขณะที่ เมดิแคร์ มีมาตรฐานการสั่งจ่ายยาที่อะลุ่มอล่วยมากกว่า เพียงแค่ต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมกับบริษัทเอกชนที่ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมหมวด Part D และยาที่จำเป็นตามข้อบ่งชี้ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือยาที่ได้รับการแนะนำไว้ในแนวทางเวชปฏิบัติ

ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีตัวใหม่นี้มีอัตราการรักษาหายสูงถึงร้อยละ 90 หรือมากกว่า นับว่ามีประสิทธิผลในการรักษาที่ดีกว่ายาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและมีผลข้างเคียงจากยาที่น้อยกว่า มีการศึกษาบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า แทนที่จะสนใจแต่ป้ายบอกราคาของยาตัวนี้ เราควรพิจารณาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคตที่ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงได้

“การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ก็เสมือนเป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับและยังช่วยป้องกันไม่ให้คนไข้ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ รวมแล้วก็คือการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคตนั่นเอง” นี่คือคำกล่าวของ นพ.อดัม เพย์ตัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับจาก The University of Miami Health System ในฟลอริดา ผู้ซึ่งสั่งจ่ายยามูลค่ากว่า 13.5 ล้านดอลล่าห์ เพื่อรักษาไวรัสตับอักเสบซี ตามโปรแกรม Part D เมื่อปีที่ผ่านมา “ผมรู้สึกหัวเสียกับกระแสสังคมในเชิงลบที่มีต่อยาใหม่ซึ่งเพิ่งคิดค้นสำเร็จและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค”

ยาใหม่ดังกล่าวอาจยังไม่สามารถช่วยประหยัดงบประมาณของเมดิแคร์ลงได้ในขณะนี้และรวมถึงในระยะยาวด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสารอายุรศาสตร์การแพทย์ (Annals of Internal Medicine) ได้ระบุว่า หนึ่งในสี่ของงบประมาณกว่า 65 พันล้านดอลล่าห์ ที่จ่ายไปเพื่อจัดซื้อยาใหม่มารักษาคนไข้ที่มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพทั้งหมด (ไม่ใช่แค่ในระบบเมดิแคร์) จะถูกชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากนี้ยังจะทำให้คนไข้โรคตับอักเสบซีส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับอีกด้วย

โดยทั่วไปผู้ที่จ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลจะได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคตามโปรแกรม Part D อยู่แล้ว แต่ผู้เข้าร่วมโปรแกรมการรักษานี้ก็ยังจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาในบางส่วนโดยเฉพาะ ”ค่ายา” ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะร่วมจ่ายในอัตราที่แตกต่างกันไปตามชนิดของยาที่ใช้ ที่ผ่านมาเคยมีผู้มีสิทธิภายใต้ระบบเมดิแคร์ต้องควักกระเป๋าเพื่อร่วมจ่ายค่ายาเป็นเงินราว 4,700 ดอลล่าห์  ในกรณีเช่นนี้ หลังจากได้ใบสั่งยาไปเพียงไม่กี่วัน ระบบ catastrophic coverage ก็เริ่มเข้ามามีบทบาท เนื่องจากเมดิแคร์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาในสัดส่วนร้อยละ 80 ในขณะที่แผนประกันสุขภาพที่ซื้อเพิ่มกับบริษัทเอกชนจะจ่ายให้ร้อยละ 15 ส่วนผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบจ่ายส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 5

แจ็ค ฮอดเลย์ ศาสตราจารย์จากสถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอร์จทาว์น กล่าวว่า  ค่าใช้จ่ายในบางส่วนอาจจะถูกผลักภาระไปยังผู้ที่ได้รับสิทธิภายใต้ระบบเมดิแคร์ทุกคน รวมไปถึงคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วย กล่าวคืออาจจะมีการปรับฐานค่าใช้จ่ายส่วนต้น (deductible) ให้สูงขึ้นหรือกำหนดให้มีการร่วมจ่ายในอัตราที่สูงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในปีหน้านี้ ค่าใช้จ่ายส่วนต้นในการเข้าร่วมโปรแกรมการรักษา ซึ่งคนไข้จะต้องจ่ายก่อนที่จะเข้าข่ายความครอบคลุม จะเพิ่มจาก 320 ดอลล่าห์ เป็น 360 ดอลล่าห์ ส่วนอัตราร่วมจ่ายสูงสุดก่อนที่จะเข้าระบบ catastrophic coverage ก็กำลังจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 4,700 ดอล์ล่าห์เป็น  4,800 ดอล์ล่าห์ (Medicare มีระบบของ catastrophic coverage ในกรณีที่ผู้มีสิทธ์ได้จ่ายค่ายาเองภายใต้ระบบ Medicare ไปแล้วเป็นจำนวนเงินในแต่ละปีปฏิทิน เมื่อถึงจำนวนหนึ่งตามที่กำหนด (ประมาณ 4,700 ดอล์ล่าห์ ในปี 2013 หรือ พ.ศ.2556) ค่ายาที่เกินจากจำนวนดังกล่าวเกือบทั้งหมดจะได้รับการครอบคลุมโดย Medicare)

นอกเหนือจากนี้ ในส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นบ้าง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นๆ แทน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเบี้ยประกันสุขภาพเอกชนของปี 2016 (พ.ศ.2559) ยังไม่มีการประกาศออกมาในขณะนี้

เบอร์นี แซนเดอร์ สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ราคาที่สูงมากของยาต้านไวรัสตับอักเสบซีตัวใหม่โดยเฉพาะยา Sovaldi ว่า “ค่าใช้จ่ายในการใช้ยา Sovaldi ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่ายาของรัฐเวอร์จิเนีย ของระบบเมดิเคด หรือของระบบเมดิแคร์เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นประเด็นทางด้านศีลธรรมที่ทำให้คนจำนวนมากมายในประเทศนี้จะต้องทนทุกข์ทรมาน หลายชีวิตอาจต้องสูญเสียไปท่ามกลางความเจ็บปวดเนื่องจากราคาที่สูงลิบลิ่วของเวชภัณฑ์เหล่านี้” นี่คือส่วนหนึ่งของข้อเขียนจากแซนเดอร์ที่ส่งมายังสำนักข่าวออนไลน์โปรพับลิกา

ในปีนี้จะมีการเปิดตัวยาใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาด นั่นก็คือ ยา Viekira Pak โดยบริษัท AbbVie ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทประกันสุขภาพเอกชน โดยเฉพาะในการเจรจาต่อรองเพื่อขอส่วนลดราคายาลงเพื่อแลกกับการมีชื่ออยู่ในบัญชียาที่ได้รับความครอบคลุม ทั้งนี้คาดว่าบริษัทประกันฯ จะสามารถขอส่วนลดได้เพิ่มจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 50 ของราคายาเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามกฎหมายแม่ของระบบประกันสุขภาพเมดิแคร์ Part D ไม่อนุญาตให้รัฐบาลเจรจากับบริษัทยาโดยตรงเพื่อต่อรองขอส่วนลดค่ายา แต่อนุญาตให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนที่รับบริหารจัดการระบบ ทำหน้าที่เจรจาต่อรองเรื่องนี้กับบริษัทยาต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของส่วนลดต่างๆ เป็นข้อมูลลับที่ไม่มีการเปิดเผย

ด้านบริษัท Gilead Sciences ผู้ผลิตยา Sovaldi และ Harvoni ได้ออกมาชี้แจงถึงความเหมาะสมของราคายาทั้งสองชนิดว่า พวกเขาได้มอบยาที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วยสมกับราคาที่จ่ายไปแล้ว ทั้งนี้ จากเอกสารของทางบริษัทยังระบุด้วยว่า “สิ่งที่ทางบริษัทได้คิดค้นและนำเสนอ ก็คือหนึ่งในโปรแกรมการรักษาที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมที่สุด และยังพยายามที่จะไม่ทำให้ราคายากลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา Sovaldi และ Harvoni โดยเฉพาะผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาที่ต้องร่วมจ่ายค่ายาในอัตราที่สูง รวมทั้งผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพซึ่งครอบคลุมค่ายาในส่วนนี้

จากการชี้แจงดังกล่าว ได้มีผู้เชี่ยวชาญของเมดิเคดออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การออกมาท้าทายกฎหมายเช่นนี้อาจกดดันให้ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลอย่างเมดิเคด หยุดการสั่งจ่ายในส่วนของยาใหม่ตัวนี้

แมตต์ ซาโล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของคณะกรรมการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเมดิเคด กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายๆ รัฐก็เริ่มระงับการสั่งจ่ายยาใหม่ตัวนี้ เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่า "ตกอยู่ในอาณัติของราคายา (ที่กำหนดโดยบริษัทGilead)อย่างสิ้นเชิง" มันคือความรู้สึกที่คนในวงกว้างต่างก็คิดตรงกันว่า นี่ไม่ใช่นโยบายที่ยั่งยืนซึ่งสามารถดำเนินงานในระยะยาวได้

นับตั้งแต่มีการเปิดตัวของยาใหม่ บทบาทและความรับผิดชอบของแพทย์ก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะแพทย์คือบุคลากรสำคัญในการสั่งจ่ายยาในระบบเมดิแคร์ และดุลยพินิจของแพทย์ก็มีผลต่อจำนวนเงินที่เมดิแคร์ต้องจ่ายอย่างมาก 

จากข้อมูลของรัฐบาลกลางที่ระบุว่า นพ.บรูซ เบคอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับจากมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ คือ แพทย์ซึ่งถูกจัดอันดับว่าได้สั่งจ่ายยามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของ Part D ในปี 2014 (พ.ศ.2557) เขาได้เขียนใบสั่งจ่ายยารักษาโรคตับอักเสบซีกว่า 925 ฉบับ คิดเป็นมูลค่ายากว่า 22 ล้านดอลล่าห์ ในขณะที่แพทย์ซึ่งสั่งจ่ายยามากที่สุดในปี 2012 (พ.ศ.2555) ซึ่งเขียนใบสั่งยามากถึง 76,000 ฉบับแต่คิดเป็นมูลค่ายาเพียง 10 ล้านดอลล่าห์

นพ.เบคอน กล่าวว่า เขานึกไม่ถึงเลยว่าใบสั่งยาของเขา จะทำให้เมดิแคร์ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากขนาดนั้น “ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องค่ายาเลยจริงๆ ผมคิดแต่จะหาวิธีรักษาคนไข้ให้ได้เท่านั้น ผมไม่ควรรักษาคนไข้แบบนี้เพราะว่ายามีราคาแพงอย่างนั้นหรือ ?”

จากการสั่งจ่ายยาใหม่เป็นจำนวนมาก เราพบว่า นพ.เบคอนได้รับค่าบรรยายจากบริษัท Gilead Sciences and Janssen Pharmaceuticals ผู้ผลิตยา Olysio ซึ่งเขาได้กล่าวด้วยว่า ตัวเขาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยต่างก็มีความสัมพันธ์กับบริษัทยาหลายๆ แห่ง และ "มันไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอะไรเลย" ในการสั่งจ่ายยา

สำหรับคนไข้โรคตับอักเสบซีในระบบเมดิแคร์ ทุกคนตระหนักดีว่ายามีราคาแพงมากแค่ไหน  แต่พวกเขาก็ยอมรับด้วยว่าประสิทธิผลของมันเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้

โรเบิร์ต เซอร์ราโน  วัย 61 ปี ซึ่งเป็นคนไข้ของ นพ.เพย์ตัน กล่าวว่า ตัวเขาได้เข้าระบบเมดิแคร์เนื่องจากเขาเป็นคนพิการ  และยา Sovaldi รักษาเขาได้ นายโรเบิร์ตได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเมื่อเดือนตุลาคม 2008 (พ.ศ.2551) แต่โรคร้ายก็กลับมาโจมตีตับของเขาใหม่อีกครั้ง

“สำหรับผมแล้วมันคือการต่อสู้อันยาวนาน ทั้งการป่วยและการรักษาตัว แต่อย่างน้อยในตอนนี้ ผมก็สามารถตัดหญ้าและทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำได้มาก่อนเลยในชีวิต และผมรู้สึกเหมือนได้รับพรจากพระเจ้าเลยทีเดียว”

เกี่ยวกับผู้เขียน

ชาร์ล ออร์สเตน” เป็นนักข่าวอาวุโสด้านสาธารณสุขและอุตสาหกรรมยา ของสำนักข่าวออนไลน์โปรพับลิก้า  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง