ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ธีระ ระบุถึงผลวิจัยในสหรัฐฯ ปี 50 ที่พบว่าสาเหตุการล้มละลายของขาวอเมริกันนั้น 62 % เกิดจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่ประสบภาวะล้มละลายนั้น ล้วนมีคุณลักษณะที่ดี เช่น จบการศึกษาที่ดี มีบ้านเป็นของตนเอง และมีอาชีพทำมาหากินเป็นหลักเป็นฐาน ไม่เพียงแค่นั้น 3 ใน 4 ของคนที่ล้มละลายยังทำประกันสุขภาพไว้ด้วย และนี่เป็นสาเหตุเหตุที่ นพ.ธีระยืนยันว่าชาวไทยจำเป็นต้องมีหลักประกันสุขภาพ แต่หากจะให้ระบบเดินหน้าอย่างมั่นคงนั้น ต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วย นั่นคือ ทรัพยากรที่เพียงพอ บุคลากรสาธารณสุขภาครัฐต้องได้รับการดูแลคุณภาพชีวิต สมดุลการทำงาน และสวัสดิภาพ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

หลายคนคงได้ยิน และได้อ่านข่าวเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2558) และเห็นด้วยกับบิ๊กตู่ ท่านกล่าวชัดเจนมาก และตรงประเด็น แต่สื่อบางสื่อกลับตัดตอน และนำเสนอจนอาจเข้าใจผิด ท่านกล่าวว่าอย่างไร ?

หนึ่ง ปัญหาในระบบสาธารณสุขมีความขัดแย้งมาก อยากให้ยุติ

สอง ระบบหลักประกันสุขภาพ ประชาชนได้ประโยชน์ ท่านคงล้มไม่ได้

สาม 2,900 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาทุกโรคอย่างที่เข้าใจกัน เพราะอาจมีผลกระทบต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาลรัฐ จำเป็นที่รัฐจะต้องระดมทรัพยากรมาให้เพิ่ม

สี่ ที่ผ่านมา การเมืองไม่ได้เหลียวแล ทำให้ข้อมูลที่สื่อต่อสาธารณะอาจบิดเบือนคลาดเคลื่อน

หลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน และอนาคต เราคงไม่ต้องพูดถึงอดีต เพราะคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมจะถ่ายทอดให้พวกเราได้ทราบวันนี้คงเป็นเรื่อง "สถานการณ์การล้มละลายของประชาชนจากการเจ็บป่วย"

เคยเล่าให้ฟังเมื่อเดือนสองเดือนก่อนไปแล้วว่า คนยุคนี้ "รวยเร็ว จนเร็ว"...แต่จริงๆ ยังมีต่อท้ายว่า "จนแล้ว มักจะจนยาวนาน และจนมากขึ้นเรื่อยๆ" เพราะระบบทุนและวัตถุนิยมที่แข่งกันที่ผลของการมีทั้งเงิน เส้นสาย และอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ ใครที่มีแค่เงิน โอกาสรอดระยะยาวนั้นยาก ยิ่งหากผูกเงินไปกับตลาดหุ้นที่มีทั้งพ่อมดแม่มดทั่วโลกแข่งกันช่วงชิงจังหวะและโอกาสกระทืบแมลงเม่าตัวน้อยใหญ่ดังที่เห็นกันทุกวันนี้ ในปี ค.ศ.2001 หรือ 14 ปีก่อน เคยมีการสำรวจใน 5 มลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 46.2% ของการล้มละลายของประชาชนนั้นเกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพ หลังจากนั้นอีกหลายปี มีการสำรวจอีกครั้งแต่ทำในระดับชาติ ในปี ค.ศ.2007 พบว่า ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นเป็น 62.1% (ดูอ้างอิง 1)

ที่น่าสนใจคือ คนที่ประสบภาวะล้มละลายนั้น ล้วนมีคุณลักษณะที่ดี เช่น จบการศึกษาที่ดี มีบ้านเป็นของตนเอง และมีอาชีพทำมาหากินเป็นหลักเป็นฐาน ยัง...ยังไม่จบ ที่น่าสนใจที่สุดคือ 3 ใน 4 ของคนที่ล้มละลายเหล่านั้น ได้ทำประกันสุขภาพไว้ด้วย การสำรวจยังคงได้รับการดำเนินการต่อไป โดยมีรายงานวิชาการนำเสนอผลการสำรวจประชากรชาวอเมริกันในปี ค.ศ.2010 พบว่า 20% ของชาวอเมริกันประสบปัญหาการชำระค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และ 1 ใน 4 ของคนเหล่านั้นเข้าสู่ภาวะล้มละลาย (ดูอ้างอิง 3)

เมื่อปีที่แล้ว มีการศึกษาในประเทศแคนาดา โดยเจาะลึกไปในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เป็นภาระหนักเวลาเจ็บป่วย พบว่า ค่ายา และค่าทันตกรรม เป็นสองอันดับแรกที่ก่อให้เกิดภาระอย่างสูง และพบว่าการมีหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนนั้นมีส่วนอย่างมากในการช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาภาวะล้มละลายของประชาชนยามเจ็บป่วย (ดูอ้างอิง 2)

ที่พยายามเล่ามาทั้งหมดก็อยากสรุปให้ฟังว่า การเจ็บป่วยไม่สบายนั้นค่าใช้จ่ายสูงเหลือเกิน ภาวะรวยเร็วจนเร็วนั้นเป็นสัจธรรมที่เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ ต่อให้มีประกันสุขภาพที่ทำไว้ ก็อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันผลกระทบต่อสถานะการเงินของท่านหรือครอบครัว

การมีหลักประกันสุขภาพสำหรับประชากรทุกคนนั้น มีประโยชน์ที่จะช่วยเรื่องนี้ในระดับหนึ่ง คำถามที่เราควรหารือกันให้ชัดเจนคือ หลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชากรทุกคนนั้นควรประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง ใช้ทรัพยากรมากน้อยเพียงใด ระบบบริการทางการแพทย์สามารถให้บริการได้ครบถ้วนและทั่วถึงหรือไม่ ขาดเหลือประการใด ในขณะที่โรคบางโรคที่ราคาแพงมาก รัฐจะช่วยดูแลได้ไหม แค่ไหน อย่างไร

เราต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่า ระบบสาธารณสุขที่ต้องดูแลประชาชนตั้งแต่เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค การดูแลรักษายามเจ็บป่วยไม่สบาย ไปจนถึงการฟื้นฟูสภาพให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกตินั้น "มีทรัพยากรไม่เพียงพอ" ที่จะทำงานได้อย่างเล็งผลเลิศทุกด้าน ทุกเรื่อง และทุกโรค บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งคุณหมอ คุณพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ไปจนถึงคุณหมออนามัย ล้วนทำงานด้วยจิตใจมุ่งมั่นที่จะให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดี แม้จะเหน็ดเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด แต่ส่วนใหญ่ก็มิได้ปริปากบ่นอะไร เพราะทำงานตามปณิธานที่ได้ตามรอยสมเด็จพระราชบิดาของเรา

แต่การทำงานเกินกำลังแบบที่เคยเป็นมาตลอดนั้น สมควรที่จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้นกว่าเดิม รัฐต้องดูแลคุณภาพชีวิตของบุคลากรและครอบครัว ไม่ใช่ว่าทำงานจนหามรุ่งหามค่ำ ข้าวปลาไม่ได้กิน จนนำมาสู่สุขภาพกายใจที่ทรุดโทรม และมีปัญหาครอบครัว จนอาจเป็นวงจรวิกฤติที่ทำให้ระบบสาธารณสุขประสบกับปัญหาคนลาออก คนทำงานไม่พอ ต้องวิ่งรอกหารายได้เสริมเพื่อเจือจุนครอบครัว แถมยังมีปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อทั้งตนเอง ครอบครัว และระบบตามมาอย่างไม่สิ้นสุด

ผมยังยืนยันเสมอมาว่า "ประชาชนชาวไทยจำเป็นต้องมีหลักประกันสุขภาพ" แต่ต้องเสริมอีก 3 ประเด็นดังนี้

หนึ่ง หลักประกันสุขภาพของประเทศต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอในการดำเนินงาน

สอง บุคลากรที่ทำงานในระบบสาธารณสุขของประเทศจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านคุณภาพชีวิต สมดุลการทำงาน และสวัสดิภาพในการทำงานที่ดีกว่าในปัจจุบัน

และสุดท้ายคือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลิกบ่อนทำลายสังคมด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารวิชาการที่บิดเบือน ช่วงชิงพื้นที่สื่อเพื่อตอบสนองกิเลสส่วนตน

ขอบอกตามตรงว่า ตำแหน่งวิชาการสูง และรางวัลดีด่งดีเด่นทั้งหลายที่สังคมเราบูชากันมากมายนั้น ไม่ได้การันตีความดีงามของคน และคุณูปการที่นำส่งสู่สาธารณะ บ้านเมืองเราตอนนี้ต้องการ "คนดีและคนเก่ง" แต่หากให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ความดีย่อมต้องมาก่อนความเก่ง เพราะความเก่งนั้นฝึกฝนกันได้ แต่ความดีนั้นมาจากรากเหง้าที่ใช้เวลายาวนานเหลือเกินในการเพาะบ่ม และพิสูจน์

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

1. Himmelstein DU, Thorne D, Warrem E, et al. Medical bankruptcy in the United States, 2007: Results of a national study. Am J Med. 2009 Aug;122(8):741-6.

2. Himmelstein DU, Woolhandler S, Sarra J, et al. Health issues and health care expenses in Canadian bankruptcies and insolvencies. Int J Health Serv. 2014;44(1):7-23.

3. Sommers A, Cunningham PJ. Medical bill problems steady for U.S. families, 2007-2010. Track Rep. 2011 Dec;(28):1-5.