ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มข้าราชการ สธ.สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคนิคการแพทย์, รังสีการแพทย์, วิทยาศาสตร์การแพทย์ บุกทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ และ วิษณุ ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังปรับตำแหน่งตรงตามวุฒิปริญญาตรี แต่ถูกพิษจากเกณฑ์ ก.พ.ได้เงินเดือนลดลง ทั้งถูกดองไม่ได้ขึ้นเงินเดือน 6 ปี แถมสุดเหลื่อมล้ำได้เงินเดือนน้อยกว่าข้าราชการบรรจุทีหลัง ชี้สายงานพยาบาล และ ขรก.อีกกลุ่มได้รับการเยียวยาแล้วจากปัญหาเดียวกัน แต่สายวิทยาศาสตร์สุขภาพยังไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มข้าราชการผู้เดือดร้อนจากการปรับตำแหน่ง นำโดย นายโยธิน ทองศิริ นักเทคนิคการแพทย์ ระดับชำนาญการ โรงพยาบาลน่าน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีได้รับความไม่เป็นธรรมในการปรับตำแหน่ง

นายโยธิน เปิดเผยว่า พวกตนเป็นผู้ปฏิบัติงานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เทคนิคการแพทย์, รังสีการแพทย์, วิทยาศาสตร์การแพทย์) ใช้วุฒิอนุปริญญาเมื่อแรกบรรจุรับราชการ แต่เมื่อรับราชการมาระยะหนึ่งจึงมีหลักสูตรต่อเนื่องจึงได้ศึกษาต่อเนื่องเพิ่มเติมอีก 2 ปีได้จนได้วุฒิปริญญาตรี (ป.ตรี) โดยใช้จ่ายเงินส่วนตัว กลุ่มของตนส่วนมากครองระดับ 6 ตำแหน่งเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระดับชำนาญงานอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อเรียนจบได้รับการปรับตำแหน่งให้ตรงกับวุฒิ กลับต้องถูกลดระดับลงมาอยู่ระดับ 5 (เงินเดือนเกินขั้นสูงสุดของระดับ 5 ต้องลดลงมาให้เท่ากับขั้นสูงสุดของระดับ 5 เท่ากับ 22,220 บาท และต้องรับตามอัตรานี้เนื่องจากขั้นเงินเดือนเต็มเพดานระดับ 5 และอยู่ในอัตรานี้ 6 ปี) ซึ่งพวกตนไม่มีทางเลือกและไม่มีข้อยกเว้นเพราะเป็นไปตามเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ข้าราชการ พ.ศ. 2535

ต่อมามีการร้องขอจากกระทรวงสาธารณสุขไปยัง ก.พ. เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่เป็นข้าราชการ เนื่องจากใช้ทุนส่วนตัว เสียเวลาที่ต้องดูแลครอบครัวไปศึกษาหาความรู้เป็นเวลา 2-4 ปี เพื่อกลับพัฒนางานในหน้าที่ เมื่อปรับตำแหน่งกับต้องมาลดเงิน และไม่ขึ้นเงินเดือนเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งต่อมา ก.พ. มีการอนุมัติให้ยกเว้นคุณสมบัติบางประการในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยไม่ต้องย้ายจากระดับชำนาญงานจากแท่งทั่วไป มาระดับปฏิบัติการแท่งวิชาการ แต่สามารถเข้าระดับสู่ชำนาญการได้เลย ตาม หนังสือที่สธ.๐๒๐๑.๐๓๙/ว๑๓๙๐ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เรื่อง การนับระยะเวลาเกี่ยวข้องเกื้อกูลตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มผู้ที่ปรับในภายหลัง ซึ่งอาวุโสน้อยกว่า กับกลุ่มของตนซึ่งอาวุโสกว่าที่ต้องถูกลดเงินเดือนลง กล่าวคือรุ่นน้องอาวุโสน้อยกว่า แต่กลับได้เงินเดือนมากกว่าหัวหน้างานที่มีอาวุโสกว่าแต่มีอัตราเงินเดือนน้อยกว่าลูกน้อง เงินสะสม กบข.น้อยกว่า บำนาญ กบข.น้อยกว่า แม้ว่าจะไม่เข้า กบข.ก็ได้รับบำเน็จบำนาญที่เหลื่อมล้ำกว่ากันมาก ส่งผลกระทบเสียขวัญและกำลังใจ เพราะเป็นผู้อาวุโสกว่าทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิและมีภาระงานมากกว่า เป็นหัวหน้างาน อาวุโสเชี่ยวชาญกว่า แต่กลับได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่น้อยกว่ามาก

“เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับสายงานพยาบาลที่ได้รับการเยียวยาแล้วปี พ.ศ.2554 และกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจาก นร.154 ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก ก.พ.แล้วว่า ให้ได้รับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ในมาตรา 50/1 ใน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนปี พ.ศ.2551 ว่าในเรื่องการเยียวยา ซึ่งทั้ง 2กลุ่มที่ได้รับการดูแลเยียวยา แต่กับกลุ่มพวกเราซึ่งบริบทเดียวกันกลับไม่ได้รับการดูแลแก้ไขเรื่องราวทั้งหมดที่ได้ร้องทุกข์นี้ พวกเราได้เคยดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) มาแล้ว โดยมีความเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม ก.พ.ค.ได้ส่งเรื่องร้องทุกข์ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสำนักงาน ก.พ.แล้ว เพื่อดำเนินการในเรื่องเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนตามควรแก่กรณี ดังเช่นที่เคยกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาแก้ปัญหาให้แก่ข้าราชการในสายงานพยาบาลเทคนิคมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากสำนักงาน ก.พ.” นายโยธินกล่าว

นายโยธิน กล่าวต่ออีกว่า การที่พวกตนได้พัฒนาตนเองตามนโยบาย ก.พ.ที่เป็นข้าราชการ เก่งและดี แต่กลับได้รับผลตอบแทนเสมือนว่า ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงโดยลดเงินเดือนและไม่ขึ้นเงินเดือน 6 ปี หรือ 12 ครั้งรอบการประเมินเช่นนี้ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจสถาบันราชการซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีระบบคุณธรรมเป็นแบบอย่างขององค์กรในสังคม และเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ว่า ยังยึดหลักคุณธรรมต่อข้าราชการทุกกลุ่มโดยเท่าเทียมกันหรือไม่ ตนและกลุ่มข้าราชการที่ประสบปัญหานี้จึงนำเรียนเพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานสำนักงาน ก.พ.ให้เร่งดำเนินการพิจารณาตามที่กระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติไปยังสำนักงาน ก.พ.ตามหนังสือที่ สธ.๐๒๑.๐๕๙/๒๗๓๗๘ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการปรับตำแหน่งตามแนวทางพยาบาล และขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามกระบวณการเยียวยาจนสำเร็จลุล่วงไป ซึ่งพวกตนหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนให้เสมอภาคและทัดเทียมเหมือนดั่งข้าราชการกลุ่มอื่นที่ได้รับเยียวยาไปแล้ว

ภายหลังยื่นหนังสือร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว นายโยธินและคณะได้เดินทางไปที่สำนักงาน ก.พ.เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าด้วย