ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระวัฒน์” ชี้ทางออกปัญหาระบบสุขภาพ ต้องตีแผ่ความจริง ทั้งจำนวนเตียง ผู้ป่วย แพทย์-บุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณ เผย รพ.รับภาระเกินร้อยละ 150-200 จี้ผู้บริหารดูงานสภาพความเป็นจริง พร้อมเน้นรุกงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาผู้ป่วยนอก สกัดผู้ป่วยสู่ภาวะโรคเต็มขั้น ลดผู้ป่วยและค่ารักษา หนุนเดินหน้าร่วมจ่าย เหตุระบบหลักประกันสุขภาพของไทยยังไม่สมบูรณ์เหมือนอังกฤษ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา    

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาระบบสุขภาพในประเทศไทยว่า ที่ชัดเจนและต้องแก้ไขคือเรื่องกำลังคนซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐยังไม่เพียงพอกับภาระงาน โดยขณะนี้โรงพยาบาล (รพ.) แต่ละแห่งต่างรับภาระงานร้อยละ 150-200 ของงานที่ทำอยู่ อย่างเช่น หอผู้ป่วยปกติรับผู้ป่วยเพียง 30 เตียง เพิ่มเป็น 60 เตียงเป็นต้น และเป็นผู้ป่วยหนักทั้งหมด ทำให้บุคลากรแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยเพิ่ม 2-3 เท่า ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ต่อให้แพทย์ พยาบาลเก่งแค่ไหนก็แย่

ขณะที่งบประมาณนอกจากไม่เพียงพอต่อภาระงานแล้ว ยังมีการเบิกจ่ายที่ยังวุ่นวาย เพราะต้องเขียนรายงานเบิกจ่ายตามโรคทั้งที่หน้าที่ของแพทย์มากอยู่แล้ว ขณะนี้มีเสียงบ่นกรณีที่ผู้บริหารลงพื้นที่ดูงาน ต้องเสียเวลาในการต้อนรับและชี้แจง ซึ่งหากต้องการเห็นปัญหาผู้บริหารตั้งแต่รัฐมนตรีควรลงมาเพื่อดูสภาพจริงในเวลาปกติ ซึ่งผู้บริหารเองก็เป็นหมอ จึงมีการพูดมาตลอดว่าอยากให้ลองมานั่งตรวจผู้ป่วยดู เฉพาะผู้ป่วยนอกวันละ 50 ราย จะทำได้หรือไม่ ทั้งยังต้องดูผู้ป่วยใน ผู้ป่วยไอซียู และยังอยู่เวรอีก แต่ละเดือนแทบไม่ได้พักผ่อน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ส่งโปรแกรมเพิ่มศักยภาพบริการและดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยไม่ได้ดูว่าภาระงานจริงในปัจจุบันมันหนักเกินกว่าที่ควรเป็นแล้ว

“สถานการณ์ในระบบสุขภาพขณะนี้ ผมมองว่าเป็นระบบที่คัดกรองคนดีออกจากระบบ คนที่ออกไปเพราะทนไม่ไหว คนที่อยู่ในระบบก็อยู่แบบตายซาก ดังนั้นจะมาหวังคุณภาพอะไรต่างๆ คงไม่ได้ ซึ่งผู้บริหารต้องรับทราบปัญหานี้และแก้ไข โดยเฉพาะรัฐมนตรี หากยังปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้ ไม่ต้องมีก็ได้” 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะที่งานด้านการป้องกันโรคยังมีปัญหา ทำได้ไม่สำเร็จ เพราะหากป้องกันได้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยใน รพ. แต่ขณะนี้ยังมีคนไข้ที่มีภาวะป่วยเป็นโรคเต็มขั้นเข้ารักษาที่ รพ.จำนวนมาก ขณะเดียวกันประชาชนก็ถูกการเมืองมอมเมาว่าไม่ต้องสนใจป้องกันให้รอรักษาอย่างเดียว พร้อมกับมีการชูประเด็นว่าทุกโรครักษาได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกโรครักษาไม่ได้เพราะงบไม่พอ แต่กลับมีการประโคมข่าว ประกอบกับวิธีประเมิน รพ.ยังมองว่าไม่เป็นการส่งเสริมงานป้องกันโรค เพราะมุ่งให้งบ รพ.ที่รักษาผู้ป่วยจำนวนมากและมองว่าเป็น รพ.ที่ทำงานดี ทั้งที่ทิศทางที่ถูกต้องควรเป็นการประเมินว่า รพ.ไหนทำงานส่งเสริมป้องกันโรคได้ดี มีคนไข้เข้ารับบริการน้อย สกัดโรคในช่วงแรกเริ่มไม่ให้ลุกลาม

“ทรัพยากรต้องมุ่งไปที่การรักษาผู้ป่วยนอกเพื่อไม่ให้โรคลุกลามไประยะที่ภาวะเต็มขั้น แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) หมอ 1 คนตรวจคนไข้ 50 คน ทำอย่างไรก็ไม่มีทางตรวจให้ดีและละเอียดได้ ขณะงบผู้ป่วยนอกก็ไม่พอ สถานการณ์ระบบสุขภาพในบ้านเราจึงเป็นการตั้งรับรักษาอย่างเดียว และในกรณีผู้ป่วยหนักยังต้องใช้หมอเฉพาะทางมากกว่า 1 สาขา ซึ่งทำให้ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรมาก”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เวลาคิดเรื่องแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพต้องคิดอย่างเป็นระบบ เพราะวันนี้คนไข้ที่ป่วยเต็มขั้นมีเกินกวา รพ.รัฐจะรองรับได้ การแก้ไขคือทั้งบุคลากรและงบประมาณสถานพยาบาลต้องพอ และเป็นการแก้ไขระยะเร่งด่วนเพื่อให้บุคลากรอยู่ในระบบได้ โดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาตีแผ่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเตียงใน รพ. ผู้ป่วยที่เข้ารักษา แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงงบประมาณ โดยไม่ต้องมานั่งทะเลาะกัน  ขณะเดียวกันต้องมีแผนระยะกลางเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้หน้าใหม่เกิดขึ้นในอัตราที่รับไม่ได้ ทั้งโรคที่มองเห็นและมองไม่เห็น  ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้งบประมาณไม่รู้กี่พันล้านบาทต่อปี แต่กลับมีหน้าที่แค่คิดคำขวัญเก๋ๆ ติดโปสเตอร์ และโฆษณาออกทีวี ทั้งที่ควรนำงบประมาณก้อนนี้สู่การป้องกันในระบดับชุมชน โดยเฉพาะการคัดกรองเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งหากใครพบโรคจะได้รีบรักษา

ต่อข้อซักถามว่า กรณีที่งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงพอและมีข้อเสนอให้ร่วมจ่าย มองประเด็นนี้อย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องนำตัวเลขจริงมาดูว่าที่รักษาคนไข้ไป ค่าใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ ไม่ใช่การตั้งงบประมาณล่วงหน้า ขณะนี้เท่าที่ทราบ รพ.ส่วนใหญ่ต่างเป็นหนี้บริษัทยาเต็มไปหมดเพราะงบที่ได้รับไม่พอ แต่จะต้องไม่ใช่การจัดตั้งมูลนิธิเพื่อรับบริจาคมองว่ามันเกินไป อย่างไรก็ตามระบบหลักประกันสุขภาพหากทำให้สำเร็จแบบอังกฤษได้คือทุกคนใช้งบจากก้อนเดียวกัน มีเพียงกองทุนเดียว ซึ่งเป็นกองทุนรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่กว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะถึงขั้นนั้นได้ ตอนนี้ใครมีกำลังจ่ายต้องช่วยจ่าย ซึ่งต้องมีจุดที่กำหนดว่า ใคร เมื่อไหร่ที่ต้องร่วมจ่าย และต้องจ่ายเท่าไหร่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ไม่ใช่คนนั่งรถเบนซ์มารักษาใช้บัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยไม่จ่ายเลย แบบนี้คงไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การร่วมจ่ายต้องเป็นการจ่ายล่วงหน้าใช่หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เพราะไม่ใช่นักบัญชีหรือนักเศรษฐศาสตร์ แต่ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์เคยทำ คือเราจะมีนักสังคมสงเคราะห์ หากคนไข้คนหนึ่งเข้ามารักษาและมีปัญหาการจ่าย เขาจะส่งหน่วยไปดูตามว่าจะช่วยจ่ายได้เท่าไหร่ เข้าไปดูแต่ละราย ซึ่งก็ทำให้ รพ.รอดมาได้ตลอด อีกทั้งเมื่อมีการร่วมจ่ายแล้วจะทำให้รู้สึกว่าเราต้องป้องกันตัวเองจากการเจ็บป่วยให้ดีที่สุด ไม่ใช่ไม่สนใจสุขภาพตนเอง ปล่อยให้ป่วยเต็มที่และเข้า รพ.รักษาโดยมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับ แต่พอเข้ารักษาและพบว่าระบบไม่ได้ดีอย่างที่นักการเมืองพูดไว้ จึงเกิดความไม่พอใจ โกรธหมอ โกรธ รพ.ที่ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่คาดหวังได้ ทำให้เกิดปัญหา เหล่านี้ต้องตีแผ่ความจริงให้ทราบ และการร่วมจ่ายคงต้องมีไปจนกว่าระบบทุกอย่างจะพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองคนไข้ การป้องกัน และการรักษาผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็น จำนวนคนไข้หนักลดลง แต่ตอนนี้ต้องทำให้ประชาชนรับทราบว่าต้องช่วยกันอย่างไร