ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลลูกจ้างรอบรรจุ ขรก.หวั่น หากรอบ 3 มีปัญหา ผู้รอบรรจุรอบต่อไปคงมีโอกาสน้อย รอแค่ตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณแต่ละปีที่มีน้อยมากแค่หลักสิบหลักร้อยเท่านั้น ขณะที่ผู้รอบรรจุมีหลักหมื่นคน แจงทุกคนที่ทำงานเสียสละใน รพ.รัฐ ก็เพื่อแลกโอกาสในการบรรจุข้าราชการ คาดจะทำให้มีพยาบาลจำนวนหนึ่งทนไม่ไหว ลาออกจากระบบรัฐ ยันวิชาชีพพยาบาลยังขาดแคลนมาก ทั้ง รพ.รัฐมีปัญหาเตียงล้น ขอความเห็นใจรัฐบาล ยังมีพยาบาลที่รอความช่วยเหลืออยู่

นายวีรยุทธ์ กุลไพศาล พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว รพ.สุรินทร์ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่จะบรรจุข้าราชการในรอบ 3 นี้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่จะได้รับการบรรจุในรอบถัดไป ซึ่งหากรอบ 3 ไม่ได้รับการอนุมัติ นั่นหมายความว่าผู้ที่รอบการบรรจุในรอบถัดไปก็ต้องรอออกไปอีก ต้องรอตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณที่แต่ละปีนั้นมีน้อยมากแค่หลักสิบหลักร้อยตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่รอบรรจุมีจำนวนถึงหลักหมื่นคน ซึ่งตำแหน่งข้าราชการเป็นความหวังลูกจ้างวิชาชีพชั่วคราว ที่ผ่านมาทุกคนที่ทำงานใน รพ.รัฐ ต่างเสียสละเพื่อแลกกับการได้รับบรรจุตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นภาระงานที่หนักมากเนื่องจากเปิดให้บริการประชาชนทุกระดับ แต่รายได้น้อยไม่เทียบเท่าเอกชน ซึ่งหากเริ่มต้นทำงานเงินเดือน 12,000 บาท แต่หลังทำงาน 5 ปี เงินเดือนก็ขึ้นไม่ถึง 15,000 บาท ขณะที่เอกชนเงินเดือนแตะ 30,000 บาทแล้ว

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ช่วงแรกพยาบาลจะได้บรรจุเป็นข้าราชการเลย แต่ระยะหลังเราต้องรอตำแหน่งเกษียณก่อน และต่อมาจึงมีมติ ครม.ปี 2555 ที่อนุมัติกว่า 20,000 ตำแหน่ง และได้มีการบรรจุ 2 รอบแล้ว แต่ในรอบ 3 มีข่าวว่าจะไม่ได้ทำให้ความหวังขอพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวที่รอการบรรจุล่มสลาย เกิดความสงสัย กังวล และไม่พอใจ เพราะเมื่อรัฐบาลรับปากแล้วแต่กลับทำไม่ทำตามสัญญา และเชื่อว่าจะทำให้พยาบาลที่รอบรรจุส่วนหนึ่งลาออกไป”  นายวีรยุทธ์ กล่าว และว่า ส่วนตนที่ยังคงทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ เพราะเป็นคนสุรินทร์ จึงอยากทำงานในพื้นที่ และหวังที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเช่นกัน นอกจากนี้ที่ไม่เลือกไปทำงาน รพ.เอกชน เพราะเห็นใจเพื่อนวิชาชีพ หากลาออกไปจะทำให้ภาระงานของคนที่ยังอยู่หนักมากขึ้น

ส่วนเหตุผลที่อาจไม่บรรจุเป็นเพราะวิชาชีพพยาบาลไม่ขาดแคลนแล้วนั้น นายวีรยุทธ์ มองว่า เป็นการคำนวณโดยนักวิชาการที่คิดบนกระดาษ โดยดูจากจำนวนเตียงและเทียบอัตราพยาบาลต่อจำนวนผู้ป่วย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า รพ.ของรัฐมีปัญหาผู้ป่วยล้น จึงมีเตียงเสริมเตียงแทรกอยู่มาก อย่างที่ รพ.สุรินทร์ เป็น รพ.ขนาด 600 เตียง แต่ต้องดูแลผู้ป่วยถึง 800 เตียง โดยเป็นเตียงแรกที่เสริมเข้ามาถึง 200 เตียง นอกจากนี้พยาบาลที่ทำงานใน รพ. ยังต้องแยกไปทำงานในแผนกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพยาบาล พยาบาลควบคุมการติดเชื้อ พยาบาลควบคุมคุณภาพ ทำให้พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยจริงนั้นลดลง ดังนั้นจึงต้องดูการปฏิบัติงานจริงที่หน้างานด้วย และอยากขอความเห็นใจจากรัฐบาลและสะท้อนให้สังคมรับรู้ว่ายังมีกลุ่มพยาบาลที่รอคอยการดูแลจากภาครัฐอยู่  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง