ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดโครงการ “ส่งต่อความห่วงใยจากแม่...สู่ลูก” ชวนคุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม จูงลูกสาว 20 ปีขึ้นไปมาตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ หามะเร็งเต้านมฟรี 184 คน ระบุ มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่หากผู้เป็นแม่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม โอกาสที่ลูกจะป่วยด้วยโรคดังกล่าวก็จะสูงตามด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคมะเร็งเป็นภัยร้ายที่คุกคามคนในประเทศ เพราะปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง สูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 60,000 คนต่อปี โดยมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชาย คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี ส่วนในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคที่หากผู้เป็นแม่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม โอกาสที่ลูกจะป่วยด้วยโรคดังกล่าวก็จะสูงตามด้วย

ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการ ส่งต่อความห่วงใยจากแม่...สู่ลูก โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ฟังถึงโครงการนี้ว่า จากสถานการณ์โรคมะเร็งเต้านม ที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย โดยจากสถิติโรคมะเร็งของประเทศ ปี พ.ศ. 2554 มีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว 28.6 คนต่อประชากร 1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2551 มีตัวเลขอยู่ที่ 26.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน จึงเห็นได้ว่ามีอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ สถาบันฯ ได้เปิดโครงการ ส่งต่อความห่วงใยจากแม่...สู่ลูก โดยจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2558 ณ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้บุตรสาวของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ได้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ฟรี จำนวน 184 คน

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจะเปิดรับสมัคร 2 ส่วน คือ บุตรสาวของผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จำนวน 100 คน และบุตรสาวของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมแต่รักษากับโรงพยาบาลอื่นๆ จำนวน 84 คน โดยนำหลักฐานใบรับรองแพทย์ สำเนาบัตรประชาชนของแม่และลูก สำเนาทะเบียนบ้านของลูก มายื่นกับทางสถาบันฯ ตลอดเดือนสิงหาคม เพื่อลงทะเบียนและนัดหมายการตรวจต่อไป สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nci.go.th ทั้งนี้การที่สถาบันฯ เจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่ คู่แม่ลูกนั้น เนื่องจากบุตรสาวของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าคนปกติทั่วไป ประกอบกับเพศหญิงจะมีอัตราเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชาย

ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจหาความผิดปกติของเต้านม เพื่อหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก ได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ 3 วิธี คือ การดู คลำ บีบ วิธีการดู คือ ถอดเสื้อและยกทรงออก ยืนส่องกระจกดู เต้านม ทั้งด้านข้างและด้านหน้า โดยปล่อยแขนแนบลำตัว ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จากนั้นให้ยกแขนทั้ง 2 ข้าง สังเกตว่ามีรอยบุ๋ม ผิวหนังผิดปกติหรือไม่ ต่อจากนั้น เอามือจับสะโพกทั้ง 2 ข้าง เกร็งกล้ามเนื้อหน้าอกสังเกตว่ามีความผิดปกติหรือไม่ วิธีการคลำ ในท่านอน โดยนำผ้าหรือหมอนเล็กๆ หนุนใต้สะบัก ทีละข้าง จากนั้นใช้ส่วนปลายของนิ้วชี้ กลาง และนาง คลำไล่ไปทั้งแนววงกลม แนวขึ้นบนลงล่าง และแนวรัศมี ต่อจากนั้นเปลี่ยนเป็นท่านั่ง ท่านี้จะมีผลดี สำหรับการตรวจหาความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองบริเวณ รักแร้ เพราะแขนทิ้งน้ำหนักลงมา ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้คลายตัว สามารถคลำความผิดปกติได้ชัดเจน และสุดท้ายคือ วิธีการบีบ บริเวณหัวนม และลานหัวนม ว่ามีสารคัดหลั่ง หรือน้ำ ผิดปกติออกมาจากบริเวณหัวนมหรือไม่ ทั้งนี้ ควรตรวจหาโรคมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง โดยช่วงเวลา ที่เหมาะสำหรับการตรวจหาความผิดปกตินั้น คือวันที่ 7 – 10 หลังจากการมีประจำเดือนวันแรก เนื่องจาก เต้านมไม่คัดตึง

สำหรับกิจกรรมเปิดตัวโครงการส่งต่อความห่วงใยจากแม่...สู่ลูก จัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ณ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ประกอบด้วย บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น การตรวจองค์ประกอบของร่างกาย บริการการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวด์ให้กับบุตรสาวผู้ป่วย ซึ่งผู้สนใจเข้ารับการตรวจสามารถยื่นเอกสาร เพื่อขอรับการนัดหมายได้ภายในงานและที่งานป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง ชั้น 2 อาคารวิเคราะห์บำบัดโรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ถนนพระราม6 Tel.0 2 202 6800 ต่อ 2215

 “นอกจากนี้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังได้จัดเตรียมกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ กิจกรรมเปิดใจส่งต่อความห่วงใยจากแม่...สู่ลูก โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง และคุณแม่ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ศิลปินดารา กิจกรรม Music For Mom กิจกรรม Cooking For Mom ซึ่งได้รับเกียรติจาก เชฟฟิน สุภรดี ศิวพรพิทักษ์ จากรายการครัวอินดี้ สาธิตการทำเมนูเพื่อคุณแม่ จึงอยากเชิญชวนคุณแม่ทุกท่านนำบุตรสาวเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดกรองและตรวจหามะเร็งเต้านมในเบื้องต้น เพราะหากตรวจพบเร็วก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที” ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวในที่สุด