ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เตือนประชาชนอาจได้รับอันตรายจากการรับสารพิษที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเพื่อความปลอดภัยของเด็กในครรภ์ รวมทั้งผู้ปกครองควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สารพิษที่เกิดขึ้นรอบตัว มีหลายประเภท ทั้งจากกิจกรรมต่างๆ แล้วปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม หรืออยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีอย่างไม่ถูกวิธีรวมถึงการจัดการสารเคมีที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและในระยะยาวต่อคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษจากผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มีอยู่ในบ้านเพื่อความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์และสุขภาพของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เช่น หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการทาสีบ้าน หรือมีการใช้ทินเนอร์ โดยสำรวจภายในบ้านว่ามีสารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ หากมีการนำมาใช้ ควรอ่านฉลากถึงข้อปฏิบัติทุกครั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดแมลง มด หนู แมลงสาบ สีทาบ้าน ทินเนอร์ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำหรือสารทำความสะอาดที่มีพิษรุนแรงและมีกลิ่นฉุน โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติแทน เช่น ใช้มะกรูดหรือถ่านในการดับกลิ่น ใช้น้ำหมักชีวภาพแทนการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำแบบเคมี เป็นต้น ส่วนเด็กเล็กเป็นวัยที่อาศัยอยู่ภายในบ้านตลอดเวลา มีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในบ้าน มีการเรียนรู้จากการใช้มือสัมผัสกับสิ่งที่อยู่รอบตัวและนำเข้าปากหรือจมูก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างระมัดระวัง โดยไม่วางสารพิษไว้ใกล้เด็ก เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีทำความสะอาดร่างกาย สารซักฟอก สารทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสัมผัสเข้าปากกลืนกินหรือสูดดมไอควันโดยไม่รู้ตัว

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การเดินทางบนท้องถนน อาจได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากเครื่องยนต์ของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง เช่น การเผาไหม้น้ำมันเบนซิน การเผาไม้ เป็นต้น หากมีแหล่งที่มีการเผาใกล้บริเวณบ้านและไม่มีการระบายอากาศภายในบ้านหรือที่พักอาศัยที่ดีพอ อาจจะได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งทุกกลุ่มวัยล้วนมีความเสี่ยงต่อการรับพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เนื่องจากเป็นก๊าซที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น อาการที่พบ คือ หากได้รับในความเข้มข้นต่ำจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ตาพร่า หน้ามืด รู้สึกคลื่นไส้ หายใจถี่ขึ้น และเป็นลมหมดสติได้  แต่ถ้าได้รับในความเข้มข้นสูงในทันที จะทำให้หมดสติ ร่างกายและสมองขาดออกซิเจนจนทำให้เสียชีวิตในที่สุด

“การป้องกันตนเองเพื่อลดการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการพยายามอยู่ในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ เปิดประตู หน้าต่าง ให้มีการระบายอากาศ หลีกเลี่ยงการเผาไม้ ขยะ ในบริเวณบ้าน ไม่ออกกำลังกายในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น สตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ไม่ติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น และตรวจเช็คสภาพของท่อไอเสียรถเพื่อป้องกันการรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกสู่บรรยากาศ หากเป็นไปได้ควรสวมหน้ากากสำหรับป้องกันก๊าซนี้โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องอยู่ในสถานที่หรือทำงานกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีการเผาไหม้เป็นประจำ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว