ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรี เปิดประตูค่ายทหารบกจังหวัดสระบุรี จับมือ รพ.ค่ายอดิศร เตรียมเปิดตัวงาน “รวมพล คนจิตอาสา สร้างสุขภาวะสู่สังคมที่ยั่งยืน” (Open the gate Open Spirit) ที่ 8 จังหวัดภาคกลาง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน หวังผล 3 ปี สร้างเครือข่ายจิตอาสาหน้าใหม่ ทำงานด้วยจิตวิญญาณ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ร่วมกับรพ.ค่ายอดิศร จัดประชุมแกนนำเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัด “รวมพลังชุมชน รวมพลคนจิตอาสา สร้างสุขภาวะสู่สังคมที่ยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด เปิดประตูสู่จิตวิญญาณ OPEN THE GATE TO OPEN SPIRIT โดย สปสช.เขต 4 สระบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลค่ายอดิศร จ.สระบุรี และเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ ประกอบด้วยแกนนำจิตอาสา รพ.ค่ายอดิศร รพ.สระบุรี รพ.วิหารแดง สสจ.สระบุรี รพ.ชลประทาน จ.นนทบุรี อบต.ดงมะรุม จ.ลพบุรี มิตรไมตรีคลินิก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ ประชาชน 8 จังหวัด พ.ต.หลิม ม่วงมีค่า ประธานนักบริบาลวิหารแดง นางพะเยาว์ พงษ์ศักดิ์ชาติ วิทยาลัยพยาบาลสระบุรี มูลนิธิมิตรภาพบำบัด และบริษัท โรงปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานมิตรภาพบำบัดจิตอาสา และหาแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืน โดยมี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี พร้อม พ.อ.อิทธินันท์ โชติช่วง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายอดิศร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และนางพนิต มโนการ รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ จ.นครราชสีมา

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า สปสช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ที่ร่วมดำเนินงานมิตรภาพบำบัดมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ที่ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. คนแรก ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด มีการจัดกิจกรรมให้รางวัลเชิดชูบุคคล องค์กร และสื่อมวลชน ที่ดำเนินงานมิตรภาพบำบัดดีเด่นในทุกปี ที่ผ่านมาพื้นที่เขต 4 ก็มี คุณมาลินี ใหลสกุล อยู่จังหวัดลพบุรี ที่ได้รับรางวัลมิตรภาพดีเด่น ซึ่งการเป็นจิตอาสาเป็นเรื่องของการอุทิศตนทำให้กับบางสิ่ง บางอย่าง เช่น เป็นจิตอาสา ด้านสิ่งแวดล้อม,สังคม,สาธารณสุข ส่วนมิตรภาพบำบัดต้องการกำลังใจ ต้องการศรัทธา เช่น ผู้ป่วยมะเร็งไม่จำเป็นต้องพึ่ง ยาเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยมะเร็ง อาจหายได้จากหลายปัจจัย เช่น อาหาร อารมณ์ การมีเพื่อน การมีเครือข่าย ทำให้มะเร็งหายได้ เช่นกัน

นพ.ชลอ กล่าวต่อว่า จะทำอย่างไรที่จะสร้างความสุขตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต 1.การขับเคลื่อนการตายอย่างสงบ จะเคลื่อนอย่างไร โดยไม่ยึดตัวบุคคล หากบุคคลผู้ก่อตั้งไม่อยู่ก็ยังสามารถเดินต่อไปได้อย่างยั่งยืน 2.ทำอย่างไรให้การเคลื่อนของจิตอาสา เคลื่อนได้แรง มั่นคง และ 3.เคลื่อนอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.เขต 4 สระบุรีสนับสนุนการดำเนินงานมิตรภาพบำบัดจิตอาสา โดย จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดในพื้นที่เขต 4 สระบุรี ปัจจุบันมีจำนวน 29 แห่ง สนับสนุนการสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างคุณค่าของจิตอาสา การค้นหาบุคคลจิตอาสาดีเด่น ได้แบ่งเป็น 4 ประเภท 1.หน่วยงาน/องค์กร 2.เจ้าหน้าที่ 3.บุคคล/ทีม 4.สื่อมวลชน และปี 2558 เน้นเสริมพลังสร้างแกนนำ ขยายภาคีเครือข่ายร่วมกันวางแผนในการสร้างจิตอาสาในเจนเนอร์เรชั่นใหม่ ให้ยั่งยืน โดยร่วมกับโรงพยาบาลค่ายอดิศร เพื่อขับเคลื่อนงานจิตอาสาในพื้นที่ 8จังหวัดภาคกลาง

พ.อ.อิทธินันท์ โชติช่วง ผอ.รพ.ค่ายอดิศร กล่าวว่า จิตอาสา จะต้องนำมาด้วยใจ ที่ต้องระเบิดออกมาจากภายใน การค้นหาแกนนำที่ทำอยู่ และต้องสร้างแกนนำใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ สร้างให้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน จะทำให้เกิดการดูแลกันเองในสังคม วันนี้เรามาช่วยกันทำช่วยกันคิด เพื่อเตรียมจัดงานมหกรรมที่เกิดจากใจ เพื่อหาแนวทางในการทำงานให้เกิดรูปธรรมและยั่งยืนของคนใน เขต ๔ จิตอาสา มองเห็นปัญหาและความเดือดร้อนของผู้อื่น อยากเห็นปัญหาและความทุกข์นั้นหมดไป ย้อนกลับมามองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง จิตอาสา หมายถึง จิตที่ไม่นิ่งดูดาย ต่อสังคมหรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วยไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลาลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วย ผู้อื่น คนที่ทำจิตอาสา “ไม่มีเงิน ก็ไม่ต้องกังวลอะไร เราทำได้” No Money No Worry แรงกาย เสริมสร้าง ขับเคลื่อน ผลักดัน เปลี่ยนมุมมองจากงานประจำให้เป็นงานอาสา ปลายปี 58 จะมีงานมหกรรมจิตอาสา เขต ๔ ที่เกิดจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ภายใต้แนวคิด OPEN THE GATE TO OPEN SPIRIT เน้น บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน

ระบบงานด้านจิตอาสาเกิดขึ้นนานแล้ว การจัดตั้งภาคีจะเป็นการชักนำทำให้เห็นพลังในพื้นที่ ตั้งเป้าโครงการ 3 ปี สร้างจิตอาสา ที่เป็นจิตอาสาและเปลี่ยนจาก ต้องทำ เป็น อยากทำ (mind) การดูแลผู้ป่วยในชุมชนโดยเพื่อนบ้านดูแลกันเอง สร้างจิตสำนึกให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุคนพิการ สร้างคุณค่าด้วยการยกย่องกลุ่มจิตอาสา ที่เป็นแกนนำ แล้วสร้างจิตอาสาขึ้นมา ส่วนการผลิดอกออกผลของจิตอาสา สังคมเป็นตัวขับเคลื่อน หากสำเร็จจะส่งผลให้การดูแลคนในสังคมจะดีมากขึ้น ปีที่ 1 เปิดประตูสู่จิตวิญญาณ ปีที่ 2 สร้าง/ขยายเครือข่ายไปสู่กลุ่มเจนเนอร์เรชั่นใหม่ ปีที่ 3 ผลักดันให้เกิดความยั่งยืน

พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.สระบุรี กล่าวถึงมุมมองการจัดตั้งเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยหาแนวร่วมจากพยาบาลที่มีศักยภาพ ต้องมี Innovation บนพื้นฐานของความรู้ การขยายวงการทำงาน เริ่มต้นจากคนไข้ เริ่มทำได้ตั้งแต่ยังไม่ป่วย เช่น โครงการรณรงค์สูบบุหรี่ของ สสส. โดยให้ลูกเป็นผู้บอกให้พ่อเลิ กสูบบุหรี่ ทำสังคมให้ Gen Y เป็น Gen Z ให้มีวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งคนไทยได้เปรียบ การวัด วิเคราะห์ ประเมิน วิจัย 1.กลุ่ม Good health 2. กลุ่ม Good Patient 3. กลุ่ม Good Dead ตัวอย่าง มูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมกับ สพฉ. เรื่องฉุกเฉิน ถือเป็นมิตรภาพบำบัดและจิตอาสา ที่เคลื่อนได้รวดเร็ว ต้องการ leadership ที่จะนำระบบไปได้ไกล และรวดเร็ว อย่างเข้มแข็ง ทำอย่างไรให้เยาวชนคิด และภาคภูมิใจในการเป็นจิตอาสา