ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การได้รับโอกาสเพื่อคืนสู่สังคมนับเป็นหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือ “ผู้ต้องขังหญิงข้อหายาเสพติด” ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลุดกลับเข้าสู่วังวงเดิมหลังพ้นโทษเพราะขาดการยอมรับ ไม่เพียงแต่ซ้ำเติมผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น

จากแนวคิดนวัตกรรมเพื่อสังคม “การนวดดัดจัดสรีระ หรือ Thai Chiro Trigger” สู่การจัดตั้ง “วิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE” ซึ่งเป็นกิจการมุ่งทำประโยชน์ให้กับสังคมของ นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชน โดยได้เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ไม่เพียงแต่ช่วยบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรมให้กับผู้คนทั่วไป แต่ยังเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงกลุ่มหนึ่งได้รับโอกาสฝึกอบรม มีอาชีพและพื้นที่กลับเข้าสู่สังคมได้

ช่วง 3 ปีของการผลักดันที่ได้มีการขยายบริการเข้าไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ได้มีจุดยืนในสังคมเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ นพ.พูลชัย จึงได้รับคัดเลือกจากสภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทยเข้ารับประกาศเกียรติคุณ “อาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558” เนื่องในวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย

นพ.พูลชัย กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนเป็นการดำเนินกิจการโดยนำปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้ง เบื้องต้นเป็นการเน้นเพื่อบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยการคิดค้นนวัตกรรมวิธีการนวดดัดจัดสรีระและได้มีการเผยแพร่ ซึ่งต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปในเรือนจำทัณฑสถานหญิงธนบุรี และได้พูดคุยกับท่านผู้บัญชาการเรือนจำ ทำให้ทราบว่าผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ส่วนหนึ่งเข้ามาด้วยข้อหายาเสพติดที่เกิดจากความผิดพลาดในชีวิต และเมื่อกลับออกไปส่วนใหญ่จะไม่ได้รับโอกาสทางสังคม ด้วยเหตุนี้จึงขอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิงที่สนใจ และเมื่อจบการอบรมและพ้นโทษแล้วจะรับมาเป็นพนักงานเพื่อประกอบอาชีพต่อไป เนื่องจากเทคนิคการนวดนี้ไม่จำเป็นต้องจบด้านการแพทย์แผนไทย เพียงแต่ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อม มีใจบริการ และมีทัศนคติที่ดี ก็สามารถนวดดัดจัดสรีระบำบัดให้กับผู้ป่วยได้

หลังจากการอบรมได้ทดลองนำผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ที่ได้รับการพักโทษออกให้บริการนวดดัดจัดสรีระ โดยร่วมกับหน่วยงานและบริษัทต่างๆ ที่ร่วมทำซีเอสอาร์ (CSR) ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐสภา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชน ซึ่งต่างให้การยอมรับ เพราะนอกจากเป็นการนวดบำบัดอาการที่ได้ผลแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงให้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคมได้ มีทางเลือกเพื่อประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น นอกจากการฝึกอาชีพเสริมสวยและเบอร์เกอรี่

“ในเรือนจำมีผู้ต้องขังหญิงประมาณ 2,000 คน เบื้องต้นได้ทดลองอบรมให้กับผู้ต้องขังหญิงประมาณ 20 คน ที่มีความพร้อมเพื่อดูว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งก็พบว่าเขาเหล่านี้ทำได้ดีและสามารถให้บริการบำบัดได้ จึงได้ขยายการอบรมต่อไปยังเรือนจำอื่นๆ ทั้งที่เรือนจำมีนบุรี ชลบุรี ทัณฑสถานกลาง และเรือนจำกลางในปัจจุบัน” นพ.พูลชัย กล่าวและว่า จากผลดำเนินการนี้ ทำให้กรมราชทัณฑ์เห็นว่างานที่เราทำอยู่ ไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพ แต่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยหาที่ยืนให้กับผู้ต้องขังหญิง เป็นการโอบอุ้มโดยตลาดทุนและตลาดแรงงาน เพราะด้วยการนวดดัดจัดสรีระที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดทำให้เป็นที่ยอมรับและชื่นชอบ ซึ่งต่อไปจะขยายบริการไปยังตลาดท่องเที่ยว

สาเหตุของการมุ่งมั่นเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงนั้น นพ.พูลชัย กล่าวว่า ในอดีตมุมมองที่มีต่อผู้ต้องขังหญิงก็เหมือนกับคนทั่วไป แต่หลังจากมีการนำเสนอข่าวโดยกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ที่เน้นย้ำถึงปัญหายาเสพติดที่ส่งผลให้ผู้ต้องขังหญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายคนไม่ได้เป็นอาชญากรรม เพียงแค่ตกเป็นเหยี่อ และบางคนเพียงแต่ก้าวพลาดไป ทำให้หลุดไปอยู่ในวงโคจรจึงควรที่จะได้รับโอกาส และเมื่อยิ่งได้ลองพูดคุยยิ่งพบว่าเขาเหล่านี้ไม่ได้เลวร้าย หลายคนมีครอบครัว มีลูก ดังนั้นควรมีจุดยืนเพื่อให้คืนสู่สังคมได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการจัดอบรมขึ้นพร้อมเปิดรับผู้ต้องขังหญิงทำงานหลังพ้นโทษ   

“ขณะนี้มีผู้ต้องขังหญิงกว่า 10 คนที่ทำงานอยู่กับเรา และก่อนหน้านี้ก็มีหมุนเวียนกันไป โดยต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานตรงนี้ เพราะได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมงาน ใส่เสื้อสัญลักษณ์เดียวกัน แบบเดียวกันกับที่ผมใส่ นอกจากได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วยการบำบัดอาการที่เกิดจากภาวะออฟฟิศซินโดรมและมีรายได้แล้ว ยังได้รับการชื่นชมจากผู้รับบริการที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เป็นกำลังใจต่อไป”

นพ.พูลชัย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขกฎหมายยาเสพติด โดยให้ผู้เสพเป็นเหยื่อที่ได้รับผลจากปัญหา ซึ่งจะส่งผลให้โทษเปลี่ยนไป พร้อมกับการแก้ไขกฎหมายอาญาระหว่างรอการลงโทษที่จะมีการใช้กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์แทนการคุมขัง จะส่งผลต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ในการฝึกอาชีพในระหว่างพักโทษเพิ่มขึ้น อย่างการอบรมนวดดัดจัดสรีระ ดังนั้นที่ผ่านมาทางกรมคุมประพฤติจึงได้สนับสนุนจัดตั้งบ้านกึ่งวิถี เพื่อรับเป็นที่อุปการะและที่พักให้กับผู้ต้องขังหญิงที่ต้องการได้รับโอกาสนี้

ทั้งนี้ผู้ต้องขังหญิงที่รับการอบรมและมาอยู่ในระยะแรกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มได้รับพักโทษ 4-6 เดือนก่อนพ้นโทษ แต่หากกฎหมายเปิดกว้างจะทำให้มีผู้ต้องขังหญิงได้รับการพักโทษยาวขึ้นมาร่วมโครงการ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรมเอง ยังระบุว่าการนำคนเหล่านี้มารวมอยู่ในเรือนจำมีแต่เรื่องเสีย แต่หากทำให้เขาเหล่านี้กลายเป็นคนดีและอยู่ข้างนอกโดยมีองค์กรรองรับ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาเป็นคนดีและน่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมมากกว่า  

นพ.พูลชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามักมีคำถามว่าเป็นหมอหัวใจซึ่งมีรายได้ดีกว่า แต่ทำไมกลับมาทำงานนี้ที่มีรายได้ไม่มากนัก คงต้องบอกว่าการที่ได้เข้ามาทำงานนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นเจตนาในสิ่งที่ทำและความตั้งใจ จึงยินดีเข้ามาร่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้น และหลังจากที่ได้พัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้นอกจากในประเทศแล้ว ยังเริ่มด้รับความสนใจจากต่างประเทศมากขึ้นโดยพาะองค์กรกิจการเพื่อสังคม ซึ่งในอนาคตเชื่อว่านอกจากเป็นงานอาสาในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นงานอาสาในต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ตนและครอบครัวมีความภูมิใจที่ได้ช่วยให้คนที่ก้าวพลาดไป ไม่เพียงแต่กลับมามีที่ยืนในสังคม แต่ยังทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ด้วย

“การที่หันมาทำงานตรงนี้คงต้องบอกว่า ผมมีความพร้อมทางสังคมและครอบครัว และอยากตอบแทนคืนสังคม จึงมุ่งมั่นทำงานนี้ ซึ่งตอนนี้ลูกเราก็โตแล้วและเราพอมีรายได้ที่จะเลี้ยงตัวเราได้และเห็นสังคมไทยเปลี่ยนทัศนคติโดยให้โอกาสกับผู้ที่ก้าวพลาดไป”

ส่วนที่ได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติในปีนี้ นพ.พูลชัย กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่ได้รับการคัดเลือก เพราะงานที่ทำอยู่นี้ค่อนข้างเป็นเอกเทศ และไม่ได้บอกว่าเป็นงานอาสาสมัคร แม้จะเป็นการจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ต้องบอกว่ารู้สึกดีใจที่มีคนมองเห็นและรับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งต้องบอกว่างานที่เกิดขึ้นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนไม่ใช่แค่ตนเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตามรางวัลเป็นเพียงแค่เครื่องหมายหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการรับทราบผลงาน แต่การจะทำให้ได้รับการยอมรับต่อเนื่องนั้น ต้องขึ้นอยู่กับส่งที่ส่งมอบไปต้องเป็นงานคุณภาพ ซึ่งต้องตัดสินจากสิ่งเหล่านี้

นพ.พูลชัย ยังได้กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า การทำงานเพื่อสังคม ถ้าหากใครมีความพร้อมและอยากทำความดีก็ขอให้เริ่มต้น แม้ว่าช่วยแรกจะเหนื่อและยาก แต่วันหนึ่งจะมีคนมองเห็นและเข้ามาช่วยสนับสนุน อย่างวิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE ที่ดำเนินการอยู่นี้ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำนี้มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทองมากมาย เพียงแต่ขอให้เริ่มทำ