ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกแพทยสภาชี้คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฯฉบับใหม่เป็นหลักการสากลใช้ในทุกประเทศ ย้ำสิทธิต้องมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบ อัดกลุ่มต้านมีอคติ-ยกเหตุผลไม่ Make Sense มาคัดค้าน

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่า การคัดค้านคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยฉบับใหม่ของคนบางกลุ่มในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะหลักการที่ระบุในคำประกาศฯ เป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้กัน

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เหตุผลบางอย่างที่กลุ่มคัดค้านยกขึ้นมานั้น บางข้อก็ไม่ Make Sense เช่น ติดเชื้อ HIV แล้วไม่ยอมบอกหมอ อ้างว่าไม่ต้องการเปิดเผยความลับ ซึ่งปกติหมอต้องรักษาความลับของผู้ป่วยอยู่แล้ว และถ้าไม่บอก แล้วหมอจะรักษาได้อย่างไร อาจทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาด จ่ายยาผิดพลาด หรือมารู้ความจริงทีหลังก็ทำให้การรักษาที่ถูกต้องล่าช้าออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง

หรือการตั้งข้อสังเกตเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งหมอ ก็ต้องถามว่าถ้าหมอให้แนวทางการรักษาแล้วผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตาม แล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา เป็นความผิดของหมอหรือไม่ สมมุติบอกให้เลิกดื่มเหล้าแต่คนไข้ไม่ยอมเลิก แล้วจะหายจากอาการป่วยหรือไม่

“มันเป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว เป็นโรคอะไรแล้วไม่ยอมบอก ใครจะไปรักษาได้ ให้การรักษาแล้วไม่ทำตามคำแนะนำ มันจะหายป่วยไหม สิทธิต้องมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ ผู้ป่วยก็ต้องมีความรับผิดชอบ นี่เป็นหลักการที่เขาใช้กันทั่วโลก แต่บ้านเราจะเอาแต่สิทธิแต่ไม่เอาหน้าที่ความรับผิดชอบ” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของคำประกาศที่ระบุว่า การรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ เหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้จะทำด้วยความระมัดระวังแล้ว ก็เป็นข้อความที่ต้องการให้ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่าหมอไม่ใช่เป็นหมอเทวดาที่รักษาได้ทุกโรค เหตุสุดวิสัยต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แม้แต่การทำ Lab ต่างๆ ยังเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ และก็ไม่ได้มีส่วนไหนที่เขียนว่าห้ามฟ้องหมอ ไม่มีห้ามฟ้องแม้แต่คำเดียว

“ข้อนี้แค่ต้องการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ถ้าไม่บอกล่วงหน้า คนจะมีความคาดหวังสูง คิดว่าหมอรักษาได้หมด ซึ่งมันไม่ใช่ ดังนั้นถ้าประชาชนเข้าใจจุดนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับหมอจะน้อยลง”ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า คำประกาศสิทธิฯ ฉบับใหม่นี้ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและผู้ป่วยดีขึ้น การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าแต่ละฝ่ายซื่อสัตย์ต่อกัน อธิบายกันตรงๆ ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่หากปกปิดข้อมูลต่อกัน ตรงนี้ต่างหากจะยิ่งทำให้มีปัญหา และคงไม่มีการทบทวนคำประกาศฯฉบับนี้ในอนาคตแต่อย่างใด

“จะด่าอะไรก็ด่าไป ถามว่าประชาชนจริงๆ มีใครว่าอะไรบ้าง มีแต่คนเห็นแย้งไม่เกิน 10 คน คนเก่าๆ ที่มีอคติกับแพทยสภา คำประกาศสิทธิฯฉบับนี้ มีองค์กรวิชาชีพอื่นๆ มาลงนาม มาช่วยดูด้วย แต่มาด่าแพทยสภาอย่างเดียว มันอคติ” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว