ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ‘พล.อ.ศิริชัย’ ยัน ‘นายกฯ’ ใช้ ม.44 ยุบบอร์ด สปส. แล้วตั้งใหม่ เหตุผู้ใช้แรงงานเรียกร้องปฏิรูปองค์กรให้โปร่งใส วางรากฐานการทำงานให้ตรวจสอบได้ ส่วนการเลือกบอร์ดตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่ ไม่อยู่ในภาวะที่จะจัดการเลือกตั้งได้ และต้องใช้งบเลือกตั้งกว่า 1 พันล้านบาท

นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) คณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) และคณะกรรมการที่ปรึกษาโดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และให้บอร์ดชุดเดิมยุติการปฏิบัติหน้าที่รักษาการทันที แทนการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 (ดูข่าว ที่นี่) ว่า การแต่งตั้งบอร์ด สปส.ดังกล่าวเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคม อีกทั้งยังเป็นการทำเพื่อความรวดเร็วในการจัดระบบบริหารงานกองทุนประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส วางรากฐานการดำเนินงานในอนาคตให้สามารถตรวจสอบได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกี่ยวข้องกับกรณีที่ต้องใช้งบประมาณในการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างกว่า 1,000 ล้านบาทหรือไม่ พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า อาจจะไม่เกี่ยวโดยตรง แต่ถือว่าเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลหลักเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการดำเนินงาน ส่วนการเลือกตั้งภายหลังครบกำหนด 2 ปี ตามคำสั่งมาตรา 44 นั้นจะต้องพิจารณาวิธีการและรายละเอียดในการเลือกตั้งอีกครั้ง

"การตั้งบอร์ดครั้งนี้เป็นการจัดระบบในการบริหารงานกองทุน ทั้งด้านการใช้จ่ายงบประมาณ การดูแลด้านการลงทุนในภาพรวม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกคน" พล.อ.ศิริชัยกล่าว

ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อปฏิรูประบบประกันสังคมให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งจะมีการทบทวนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบเป็นระยะอยู่แล้ว ส่วนการจัดเลือกตั้งนั้นแม้ว่าตามกฎหมายใหม่จะกำหนดให้จัดเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างโดยตรง แต่ขณะนี้ยังไม่อยู่ในภาวะที่จะจัดการเลือกตั้งได้ เพราะต้องใช้งบประมาณดำเนินการถึงกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้กฎหมายที่จะรับรองการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ และวาระบอร์ด สปส.เลือกตั้งแล้วมีเพียง 2 ปี ดังนั้นการออกประกาศฉบับนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาในส่วนของความไม่โปร่งใสและประสิทธิภาพในการทำงานของ สปส. โดยจะต้องรอให้ พล.อ.ศิริชัยมอบนโยบายการดำเนินงานในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ เพื่อความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้านนายบรรจง บุญรัตน์ กรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. กล่าวว่า จะผลักดันให้กองทุนเงินทดแทนนี้ให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกันตน โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานที่ส่งผลให้ร่างกายพิการ และให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยจากการทำงานได้รับการดูแลที่ดี เพราะที่ผ่านมามักมีปัญหาการร้องเรียนการเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทน และมีผู้ประกันตนอุทธรณ์เข้ามาจำนวนมาก ทั้งนี้ มองว่าจะต้องเข้มงวดกับนายจ้างในเรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและการจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน เพื่อให้เงินเหล่านี้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนสูงสุด

น.ส.อรุณี ศรีโต บอร์ด สปส.ฝ่ายลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 44 กล่าวว่า ดีใจที่มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประกันสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้าง สปส. ที่จะต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส โดยจะเสนอให้ปรับปรุงระบบการบริหารงานและให้ระดมความเห็นจากฝ่ายลูกจ้างในการปฏิรูปด้วย

นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษา รมว.สธ.กล่าวว่า เพิ่งทราบว่าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการการแพทย์ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดข้อมูลที่แน่ชัด แม้จะเคยเป็นกรรมการการแพทย์ สปส.เมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่ได้ทราบข้อมูลการดำเนินงานในปัจจุบัน การเข้ามาทำหน้าที่ประธานกรรมการการแพทย์ สปส.คงต้องขอดูข้อมูลก่อนว่ามีปัญหาอะไรอย่างไรหรือไม่ เพื่อที่จะได้ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ด้าน พล.ท.นพ.กฤษดา ดวงอุไร หนึ่งในผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาบอร์ด สปส.กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการ แต่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558