ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประสบศรี” เสนอแนวคิดใช้กลไกตลาดควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชน แนะพัฒนา รพ.รัฐ ขยายรักษานอกเวลาเพิ่ม แข่งขันบริการคู่ขนานเอกชนแทน เปิดทางเลือกคนชั้นกลาง แถมเพิ่มรายได้ให้กับ รพ. ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความแออัดผู้ป่วยในเวลาทำการ แต่ต้องไม่รวมกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังต้องคงสิทธิรักษาฟรี    

พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร

พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา กล่าวถึงการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนว่า โรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ทั้งที่ให้บริการผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพและที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่มีประกันรักษาพยาบาลเอกชนหรือจ่ายเงินเอง โดยค่ารักษาพยาบาลจะคิดจากต้นทุนดำเนินการ แต่ละแห่งจึงมีต้นทุนไม่เท่ากัน การควบคุมค่ารักษาพยาบาลจึงทำไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นควรพลิกวิธีคิด โดยมุ่งพัฒนาบริการสำหรับคนชั้นกลางในโรงพยาบาลรัฐเพื่อเพิ่มการเข้าถึงแทน ซึ่งปัจจุบันการบริการในโรงพยาบาลรัฐมี 2 รูปแบบ คือ การให้บริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ และการบริการนอกเวลาราชการ โดยในส่วนการบริการรูปแบบหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะมีการขยับค่ารักษาเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สูงเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน และผู้ที่เข้ารับบริการพร้อมจ่ายและสละใช้สิทธิระบบประกันสุขภาพ ทำให้เกิดการบริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกเพื่อตอบสนองความต้องการคนชั้นกลางได้

สำหรับข้อเสนอนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งเพราะรัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการฟรีตามสิทธิประกันสุขภาพรัฐอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจจริงคือโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีผู้ป่วยเข้ารับบริการแออัด มีปัญหาคิวยาว ซึ่งต้องใช้เวลารอคอยเพื่อรับการรักษาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเรามีผู้ป่วยที่เลือกเข้ารับบริการยังคลินิกเอกชนโดยยอมจ่ายเงินค่ารักษาเองอยู่แล้ว ไม่ใช้สิทธิ 30 บาท และบางคนก็อยากเลือกรักษากับหมอที่ต้องการ ดังนั้นหากเราเปิดทางเลือกตรงนี้ โดยโรงพยาบาลรัฐพัฒนาคู่ขนานเปิดบริการนอกเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนจะช่วยได้ โดยปัจจุบันยังติดระเบียบราชการอยู่ หากทำได้จะไม่ต้องคอยควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน แต่เป็นการใช้กลไกทางการตลาดแทน

“ขณะนี้คลินิกบางแห่งยังแน่น เพราะผู้ป่วยเองต้องการเลือกหมอ ขณะเดียวกันก็ไม่ไปโรงพยาบาลแพงมากๆ ดังนั้นหากเปิดให้ประชาชนต้องมีทางเลือกหลายทาง น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะวันนี้ที่ขาดไปคือโรงพยาบาลระดับชั้นกลาง ที่มีความพร้อม มีหมอ มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ดีมาเปิดตรงนี้ ซึ่งวันนี้เราไม่เปิดให้โรงพยาบาลรัฐทำได้ในระเบียบราชการ ซึ่งหากเปิดโอกาสตรงนี้ ให้โรงพยาบาลรัฐได้พัฒนาแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชน เมื่อมีทางเลือกมาก ในที่สุดโรงพยาบาลเอกชนก็จะอยู่ไม่ไหวและต้องลดราคาค่ารักษาลงมาแข่งกับรัฐบาล” อุปนายกแพทยสภา กล่าว

พญ.ประสบศรี กล่าวว่า วิธีที่เสนอนี้อาจเป็นแนวคิดที่แตกต่าง โดยที่ไม่ต้องคอยควบคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่วิธีการร่วมจ่าย เพราะโรงพยาบาลรัฐยังคงต้องให้บริการผู้ป่วยฟรีในสิทธิหลักประกันสุขภาพอยู่ เพียงแต่บริหารจัดการเปิดบริการเพิ่มช่วงนอกเวลาทำการ โดยหาแพทย์และบุคลากรมาเสริม ซึ่งค่ารักษาคงไม่แพงเท่าเอกชน และหากทำได้นอกจากเป็นการกระจายผู้ป่วยแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

ต่อข้อซักถามว่า โรงพยาบาลรัฐจะลงทุนพัฒนาบริการนอกเวลาเพื่อคู่ขนานกับโรงพยาบาลเอกชนอย่างไรให้สมดุล เพราะปัจจุบันบริการในระบบยังมีปัญหางบประมาณและทรัพยากร พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพียงแต่เป็นการปรับใช้สถานที่และทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อย่างเช่น เครื่องเอ็กซเรย์ที่มีอยู่แล้วก็เปิดบริการผู้ป่วยนอกเวลาด้วย หรือแม้แต่การเปิดผ่าตัดนอกเวลา ส่วนบุคลากรให้จ้างเพิ่มเติมจากบุคลากรในระบบ ทำให้มีรายได้เสริม แต่ต้องไม่ใช่การควง 2-3 กะ และให้จ้างบุคลากรจากที่อื่นมาเสริมเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยได้ แต่ต้องย้ำว่าบริการที่เปิดเพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่รวมผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งยังต้องคงสิทธิรักษาฟรีนอกเวลา ไม่เกี่ยวกับบริการที่โรงพยาบาลจัดเพิ่มเติมนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับเว็บไซต์แสดงค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำขึ้น พญ.ประสบศรี กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ราคาค่ารักษาพยาบาลของเอกชนนั้นแพงมาก เพราะทุกอย่างถูกใส่เป็นต้นทุน ตั้งแต่ค่าอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ บุคลากร ค่าเสียโอกาส ฉะนั้นหากโรงพยาบาลรัฐเปิดบริการนอกเวลาเพิ่ม น่าจะทำให้ประชาชนที่ไม่อยากเข้าคิวรอการรักษาหันมาใช้บริการมากกว่า ซึ่งราคาค่ารักษาคงไม่แพงเท่าเอกชน เพราะวันนี้อย่างการผ่าตัดหัวใจ ค่ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนสูงเป็นล้านบาท ขณะที่ผ่าตัดไส้ติ่งราคาเป็นหลักแสนบาทแล้ว โดยวันนี้ต้องบอกว่าคนชั้นกลางที่พอมีเงินจ่ายค่ารักษาบ้างกำลังถูกบีบ เพราะมีเพียงทางเลือกรักษาฟรีกับค่ารักษาในเอกชนที่แพงมาก ดังนั้นควรเปิดทางเลือกเพิ่มขึ้น