ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเผยโรคเบาหวานทำให้สุขภาวะผู้หญิงลดลงเป็นอันดับ 1 จาก 10 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เหตุจากน้ำหนักเกิน จับมือโรงเรียนแพทย์ปรับหลักสูตรการสอน เน้นปรับพฤติกรรมควบคู่กับการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยควบคุมอาการได้

วันนี้ (18 ธันวาคม 2558) ที่อาคารศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช กรุงเทพฯ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับเบาหวานว่าสหประชาชาติได้กำหนด 9 เป้าหมายควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยเน้นลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 25% ภายในปี 2568 ซึ่งโรคเบาหวานและโรคอ้วนเป็นหนึ่งในค่าเป้าหมายไม่เพิ่มขึ้น ส่วนองค์การอนามัยโลกเน้นการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เน้นหนัก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สำหรับประเทศไทย โรคเบาหวานถือเป็นปัญหาสุขภาวะ โดยในผู้หญิงพบเป็นสาเหตุอันดับ 1 และผู้ชายพบเป็นสาเหตุอับดับ 7 จาก 10 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อร่างกายจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งรายได้เศรษฐกิจของประชาชนด้วย จากการสำรวจอัตราตายโรคเบาหวานตั้งแต่ พ.ศ.2550-2557 มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นอกจากนี้เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สำรวจภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในปีพ.ศ.2556-2558 พบมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ 4 โรค ได้แก่ หลอดเลือดสมอง หัวใจ ตา และไต ซึ่งมีอัตราแทรกซ้อนสูง เป็นผลจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี

กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแผนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน โดยเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงไปถึงกลุ่มที่มีภาวะดื้ออินซูลิน ตั้งเป้าหมาย ดังนี้ ลดอัตราป่วยรายใหม่, ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี, เลิกสูบบุหรี่ได้, ได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน, ได้รับการประเมินความเสี่ยง และมีภาวะแทรกซ้อนและความพิการลดลงใน 3 กลุ่มหลัก คือ 

1.กลุ่มปกติกลุ่มเสี่ยงจะไม่ให้ป่วย ใช้แผนพัฒนาสุขภาพกลุ่มวัย 5 กลุ่มวัย ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล เช่น ลดการบริโภคน้ำตาล เพิ่มการออกกำลังกาย 

2.กลุ่มป่วย จะมีการคัดกรองตรวจตั้งแต่เริ่มแรก รู้ผลและรักษาได้รวดเร็ว ใช้แผนพัฒนาคุณภาพระบบบริการ และเชื่อมโยงบูรณาการกับระบบสุขภาพสาขาอื่นๆ เช่น หลอดเลือดสมอง ตา ไต เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

และ 3.กลุ่มพิการหรือรายที่ซับซ้อน จะดำเนินงานผ่านเขตสุขภาพ พื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยบูรณาการผ่านระบบสุขภาพอำเภอ ตำบลจัดการสุขภาพ ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และทีมหมอครอบครัวดูแลเพื่อให้คนในครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยได้เอง

ทั้งนี้ จะร่วมกับโรงเรียนแพทย์พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคู่กับการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานให้ควบคุมอาการได้ จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ รวมถึงกำหนดตัวอย่างหรือต้นแบบที่ดี เพื่อลดภาวะน้ำหนักเกิน เช่น การตั้งคลินิก NCD ก็จะสามารถลดการเพิ่มของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้เช่นกัน