ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอ รพ.โชคชัย” ชี้จุดเด่น รพช. ดึงแพทย์ทำงานพื้นที่ เป็น รพ.เล็ก คล่องตัว ใกล้ชิดชุมชน คนไข้ เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับแพทย์ เปิดโอกาสเรียนรู้พัฒนาวิชาชีพ ขอคำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยได้ แถมค่าครองชีพต่ำ ขณะที่ภาพรวมหมอ รพช.ยังขาดแคลนแม้ผลิตเพิ่มจำนวนมาก เหตุปัญหาการกระจายแพทย์ แถมแพทย์จบใหม่ไหลออกหลังใช้ทุน แนะ สธ.ต้องจัดระบบรองรับ แก้ปัญหาภาระงาน สร้างความมั่นใจแพทย์ทำงานพื้นที่ ทั้งให้คำปรึกษาดูแลผู้ป่วย จัดระบบส่งต่อ 

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล แพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวช โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาการลาออกของแพทย์จบใหม่ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ว่า ที่ผ่านมาเรื่องนี้มีแต่คนพูดถึงปัญหาและข้อเสียของ รพช.มาก จึงอยากเริ่มต้นพูดถึงข้อดีของ รพช.ซึ่งมีอยู่มาก เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีหมอที่ยังเลือกทำงาน รพช. และไม่ขอย้ายออกไปทำงานที่อื่น ซึ่งข้อดีในการทำงาน รพช. อาทิ การทำงานใกล้ชิดชุมชน โดยจะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้จะดีมาก ต้องบอกว่าหมอหนึ่งคนมีความหมายกับคนไข้และ รพ.มาก โดยเจ้าหน้าที่ รพ.ยังให้ความสำคัญกับหมอมาก โดยเฉพาะหมอที่มาใหม่ อีกทั้งการเป็น รพ.เล็ก เป็นการเปิดโอกาสให้หมอได้ทำงานหลายอย่างเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่แต่เฉพาะวิชาการแพทย์เท่านั้น แต่ยังฝึกทักษะทางสังคมจากความใกล้ชิดชุมชน ขณะที่กฎระเบียบไม่เข้มงวด ไม่กดดันเวลาทำงาน ค่อนข้างอิสระ และไม่วุ่นวายเหมือนกับ รพ.ใหญ่

ทั้งนี้เมื่อหมอมีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่แล้ว การทำงานต่างๆ จะยิ่งคล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานต่างๆ รวมถึงการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ หากมีราคาไม่สูงมาก การจัดหาก็ทำได้ไม่ยาก

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการดูแลผู้ป่วยนั้น ข้อดีนอกจากการได้ดูแลคนไข้ตั้งแต่ต้นทางแล้ว เมื่อการรักษาคนไข้ถึงทางตัน ยังสามารถขอคำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยได้ ไม่ต้องเครียดดูแลผู้ป่วยหรือรับความเสี่ยงคนเดียว ต่างจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใน รพ.ใหญ่ ที่มีความเครียดในการแก้ปัญหาดูแลคนไข้มากกว่า ซึ่งหากหมอต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มเติม ยังสามารถขอฝึกอบรมต่างๆ รวมถึงการผ่าตัดได้ รวมถึงการทำงานวิจัยในพื้นที่ก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน ยืนยันว่าการอยู่ รพช.ไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพของหมออย่างที่หลายคนคิด นอกจากนี้การทำงาน รพช.ยังมีข้อดี เพราะค่าครองชีพต่ำ ดังนั้นแม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่มากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ รพ.เอกชน ในเมือง แต่ก็พอเพียงสำหรับการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตามเมื่อดูปัญหาขาดแคลนแพทย์ใน รพช. นั้น นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงาน รพช.มาโดยตลอด มองว่าแม้ภาพรวมแพทย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะมีการเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์ แต่ปรากฎว่าใน รพช.ยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะการกระจายตัวของแพทย์ที่ยังเป็นปัญหา โดยกระจุกตัวเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งสถิติของแพทยสภา ปัจจุบันประเทศไทยน่าจะมีแพทย์อายุน้อยกว่า 60 ปี โดยเป็นกลุ่มที่น่าจะยังทำงานวิชาชีพอยู่ประมาณ 41,000 คน เมื่อคิดอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรจะอยู่ที่ 1 ต่อประชากร 1,585 คน ถึงจะยังเป็นอัตราแพทย์ต่อประชากรที่น้อยกว่าหลายประเทศ แต่เป็นสัดส่วนที่เกินจากเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่มากคือ แพทย์ 1 ต่อประชากร 5,000 คน ทว่ากลับเป็นตัวเลขที่ไม่อาจสะท้อนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชากรประเทศไทยได้    

เมื่อดูในส่วนของ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบดูแลคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ มีอัตรากำลังแพทย์เพียงประมาณกว่า 10,000 คนเท่านั้น หักตัวเลขแพทย์ลาศึกษาต่อเฉพาะทางปีประมาณ 1,500 คน ทำให้อัตราแพทย์หนึ่งคนในต่างจังหวัดต้องรับผิดชอบประชากร 6,000 คนทันที อนุมานได้ว่าเรายังไม่มีการจัดสรรทรัพยากรที่กระจายเพื่อให้เกิดการเข้าถึงดูแลสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยได้ ไม่นับรวมการขาดแคลนบุคลการสาธารณสุขในสาขาอื่นที่มีปัญหาขาดแคลนไม่ต่างกัน

“ปัญหาภาพรวมขาดแคลนแพทย์ของ รพช.เป็นอย่างไรนั้น ผมขอยกตัวอย่างจังหวัดที่ทำงานอยู่อย่างนครราชสีมา และเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุด ตามความรู้สึกแล้ว จังหวัดนี้ไม่น่าขาดแคลนแพทย์ โดยมีประชากรประมาณ 2.6 ล้านคน มีหมอ 642 คน ในจำนวนนี้ 306 คน หรือร้อยละ 47 อยู่ใน รพ.มหาราช ที่เป็นทั้ง รพ.จังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และยังเป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย ทำให้เหลือหมอทำงานใน รพช.เพียง 336 คน เท่ากับหมอหนึ่งคนต้องรับผิดชอบประชากรถึง 7,738 คน หากดูจากตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่า รพช.ยังขาดแคลนแพทย์จำนวนมาก”

สำหรับสาเหตุของปัญหาขาดแคลนแพทย์ของ รพช. นั้น นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า แต่ละปีจะมีแพทย์ลาออกจากราชการประมาณปีละ 700 คน และได้รับทุนไปเรียนต่อในสัดสวนที่ใกล้เคียงกับที่ลาออก เมื่อเรียนจบกลับมาแพทย์กลุ่มนี้ถ้าไม่ลาออกก็จะย้ายไปทำงานใน รพ.ใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่กลับมาทำงาน รพช. จากสถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า แม้ปัจจุบันอัตราการผลิตแพทย์จะเพิ่มมากว่าเดิมมาก และช่วยลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ รพช.ได้ระดับหนึ่ง แต่ปริมาณอย่างเดียวคงไม่ตอบโจทย์ได้ ดังนั้นปัญหาที่ต้องแก้คือ การทำให้แพทย์จบใหม่คงอยู่ใน รพช. ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการทำงาน ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การจัดระบบรองรับเพื่อให้การทำงานมีความสุข เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อใช้ทุนครบแพทย์จบใหม่คงต้องหาทางออกจากพื้นที่แน่นอน

“เชื่อว่าเราคงไม่ต้องการให้ รพช.มีแต่หมอจบใหม่ ประสบการณ์น้อย มาทำงานเพราะถูกบังคับใช้ทุน หรือไม่มีตำแหน่งไปเรียนต่อ ทำงานไปแบบรอขอวันย้ายออก หรือเลือกลาออกในที่สุด”

การที่แพทย์จบใหม่ไม่อยากทำงานที่ รพช. นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องเงินคงไม่ใช่ปัจจัยหลักอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้ว่ารายได้จากรัฐบาลจะไม่มากนัก แต่ก็อยู่ในระดับที่เราอยู่กันได้ และยังมีช่องทางทำเวชปฏิบัติส่วนตัวเสริมได้สำหรับผู้ที่ต้องการ โดยในช่วงเรียนจบ แพทย์ที่มาทำงาน รพช. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญญาผูกพันที่ต้องใช้ทุน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตั้งใจดีที่อยากออกมาดูแลรักษาผู้ป่วย แต่เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง จะมีปัจจัยต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งความต้องการอยู่กับครอบครัว ความไม่มั่นใจการดูแลผู้ป่วย ความทุกข์จากภาระงานและความรับผิดชอบที่มากไป รวมถึงความผิดพลาดการทำงานจากประสบการณ์น้อย ไม่มีระบบให้คำปรึกษารองรับ รวมถึงปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย ทำให้ความตั้งใจและความรู้สึกมีคุณค่าตัวเองลดลง จึงเลือกหาเส้นทางอื่นแทน

ต่อข้อซักถามว่า ในโซเชียลมีเดียมีแพทย์ระบุถึงหนึ่งในสาเหตุการลาออกของแพทย์จบใหม่ รพช. เป็นเพราะปัญหาการประสานงานกับ รพ.ใหญ่ นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า การกระทบกระทั่งในการทำงานระหว่าง รพ.มีอยู่จริง แต่ในความเห็นคิดว่าเป็นเพียงส่วนน้อย และเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล โดยปกติแพทย์ รพช.จะเป็นน้องๆ ซึ่งให้เกียรติและเชื่อฟังอาจารย์และพี่ๆ ใน รพ.ใหญ่อยู่แล้ว ขณะที่แพทย์ใน รพ.ใหญ่ก็เข้าใจขีดจำกัดของ รพช.ดี และมองแพทย์ รพช.เป็นเหมือนลูกศิษย์ ส่วนมากยินดีให้คำปรึกษาหรือรับดูแลคนไข้ต่อให้ แต่เรื่องที่มีปัญหาก็คงมีบ้าง ซึ่งไม่ว่าทำงานที่ไหน ก็เชื่อว่าก็มีปัญหานี้หมด แม้แต่แพทย์เฉพาะทางที่ทำงานแผนกเดียวกันใน รพ.ใหญ่ ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาภาพรวมของแพทย์ที่ทำงานใน รพช.ทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการระบุถึงปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ใหญ่ ที่มีความยุ่งยาก นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้แต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน หลักเกณฑ์การรับส่งต่อผู้ป่วยไม่เหมือนกัน โดยที่นครราชสีมา รพ.ในจังหวัดจะถูกวางระบบเป็นพี่ใหญ่ คอยให้คำปรึกษาและรับผู้ป่วยทุกรายที่ส่งต่อจาก รพช. จึงไม่ค่อยมีปัญหา นานๆ จะมีปัญหาเตียงไม่พร้อมบ้าง แต่ในกรณีที่คนไข้จำเป็นจริงๆ ก็รับส่งต่ออยู่ดี ส่วนตัวมองว่าปัญหานี้อยู่ที่น้องๆ ว่าจะสามารถให้ข้อมูลฝั่งที่รับผู้ป่วยเห็นด้วยกับการส่งต่อได้หรือไม่ หรือตรวจพบอาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ แต่ไม่ปฏิเสธว่าขั้นตอนเหล่านี้เพิ่มความยุ่งยากในการปฏิบัติงาน และบางครั้งใช้เวลามากเกินไปจนคนไข้แย่ก่อนจะทันได้ส่งต่อ

นอกจากนี้ในการส่งต่อผู้ป่วย มีอีกส่วนหนึ่งที่มีปัญหาจริงๆ คือกรณีของผู้ป่วยหนักและซับซ้อน หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเฉพาะด้านซึ่งเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลจังหวัด เช่น ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องเข้าไอซียู ทารกคลอดก่อนกำหนด คนไข้ต้องผ่าตัดสมอง เป็นต้น กรณีเหล่านี้บางครั้งเกินขีดความสามารถของ รพ.ที่รับส่งต่อตามระบบ จึงปฏิเสธไม่รับ และให้ รพช.หาทางส่งไป รพ.ใหญ่อื่นที่มีศักยภาพแทน ซึ่งการส่งต่อนอกเครือข่าย หรือ รพ.นอกสังกัด สธ. ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์จบใหม่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญเสียผู้ป่วย และแพทย์จบใหม่เองก็รู้สึกอึดอัดใจ อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์นี้น่าจะดีขึ้นได้

สำหรับการแก้ไขปัญหาเพื่อให้แพทย์จบใหม่ทำงาน รพช.นั้น นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากการผลิตแพทย์เพิ่มในภาพรวมแล้ว ซึ่งต้องบอกว่าโครงการการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ที่เป็นการดึงเด็กนักเรียนในพื้นที่เรียนต่อแพทย์นั้นช่วยได้มาก แต่สิ่งสำคัญคงต้องทำให้ทำงานและคงอยู่ในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสวัสดิการต่างๆ และค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ตามสภาพความเป็นจริงและภาระงาน การสนับสนุนและสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ อย่างการเปิดให้เรียนต่อเพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งสาขาปกติและแพทย์ทางเลือก ขณะที่โรงเรียนแพทย์ต้องให้ความสำคัญกับแพทย์ที่รับทุนก่อน ในการเปิดรับแพทย์เข้าฝึกอบรม   

การจัดทำระบบรองรับที่ดี โดย รพ.จังหวัดต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา รับส่งต่อง่าย และมีช่องทางช่วยเหลือหากเกิดปัญหา ขณะเดียวกันต้องมีการขยายขีดความสามารถชอง รพช.ให้มากขึ้น สนับสนุนการกระจายทรัพยากร เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางทำงานใน รพช.ได้ ซึ่งในส่วนของ รพ.โชคชัย มีแผนที่จะขยายบริการ มีการส่งแพทย์เรียนต่อเฉพาะทางในหลายสาขาเพิ่มเติมแล้วอีก 7-8 คน ซึ่งกำลังฝึกอบรมอยู่ แต่ขณะนี้ติดปัญหาการก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อรองรับยังไม่คืบหน้า อาจทำให้แพทย์เฉพาะทางที่เรียนต่อกลับมาต้องไหลออกไปทำงานที่อื่นแทน จึงขอเรียนผ่านไปยังท่าน นพ.สสจ. ผู้ตรวจ หรือท่านผู้มีอำนาจอื่นๆ กรุณาเร่งผลักดัน

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวย้ำว่า ความเห็นที่ให้สัมภาษณ์ข้างต้นนี้ สะท้อนมุมมองในฐานะสูตินรีแพทย์คนหนึ่งที่ทำงานใน รพช.ซึ่งไม่ได้เป็นผู้บริหาร เคยเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่แพทย์ทั่วไปอยู่บ้าง ข้อมูลต่างๆ มาจากความเห็นส่วนตัว ไม่สามารถสะท้อนปัญหาหรือความรู้สึกแทนหมอใน รพช.ทั้งหมดได้ แต่ก็ต้องการให้ข้อมูลในส่วนที่ดีสำหรับการออกมาทำงานในพื้นที่ หวังอยากเห็น รพช.พัฒนาขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี น้องๆ หมอทำงานอย่างมีความสุข ไม่ลาออกหรือขอย้ายมากเหมือนในปัจจุบัน และไม่ต้องการให้เกิดความรู้สึกว่า รพช.เป็นที่ทำงานของหมอจบใหม่ หรือหมอที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้น

“ยืนยันว่าการทำงานใน รพช.ไม่ได้น่ากลัว หรือเลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด อยากให้น้องๆ หมอเห็นคุณค่าและข้อดีของการทำงานในพื้นที่ที่ขาดแคลนบ้าง” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว