ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมสาธารณสุข หนุนเดินหน้าประกาศ โครงสร้างหน่วยงานภูมิภาค สป.สธ. ใหม่ ชี้ สสอ.และ รพ.สต. โครงสร้างใหม่แบ่งกลุ่มงานชัดเจน ประชาชนได้ประโยชน์ แจงไม่ใช่แค่ รพ.สต.ที่ไม่มี กฎกระทรวงรองรับ แต่ยังรวมถึง รพช. รพศ. และรทพ.ด้วยที่ไม่มีกฎหมายรองรับเช่นกัน การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้จะมีกฎกระทรวงรองรับชัดเจน ย้ำที่ผ่านมาได้ผ่านกระบวนจัดทำโครงสร้างอย่างรอบด้าน พร้อมแจง งานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมมีบรรจุในกลุ่มงาน แต่ไม่กำหนดเป็นภารกิจอันดับต้น เหตุ สธ.ต้องเน้นงานบริการสุขภาพ ไม่ใช่สิ่งแวดล้อม 

นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนโครงสร้างหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาคสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ที่ได้จัดทำขึ้นใหม่ และให้มีการออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า การเคลื่อนไหวนี้ หากเป็นข้อเรียกร้องการปรับปรุงบัญชีเงินเดือนข้าราชการ สธ. และค่าตอบแทนนั้นเห็นด้วย แต่หากเป็นเรื่องการทบทวนโครงสร้างหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาคสังกัด สป.สธ.โดยเฉพาะในส่วนของสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และ  รพ.สต.นั้นไม่เห็นด้วย เพราะในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อปรับโครงสร้างฯ ยืนยันว่าการจัดทำโครงสร้างฯ ใหม่นี้ ได้ผ่านกระบวนการพิจารณามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้แทนทั้งจาก สสอ.และ รพ.สต.เข้าร่วม ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ดีกว่าเดิม ซึ่งในวันนี้ (22 ม.ค. 59) ยังเป็นเวทีเปิดประชาพิจารณ์เพื่อให้แสดงความเห็นต่อโครงสร้าง สธ.ใหม่นี้   

ทั้งนี้โครงสร้างฯ ที่จัดทำขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับงานปฐมภูมิแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ สสอ.ซึ่งโครงสร้างเดิมมีเพียง 2 กลุ่มงานเท่านั้น คือ กลุ่มงานบริหารและวิชาการ แต่โครงสร้างใหม่ได้ปรับเพิ่มเป็น 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริหาร กลุ่มงานสนับสนุนบริการและวิชาการ และกลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อรองรับทศวรรษงานปฐมภูมิ

ขณะที่ในส่วนของ รพ.สต.เดิมไม่มีการแบ่งกลุ่มงาน แต่ได้มีการเสนอให้แยกกลุ่มเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเนื้องานและการปฏิบัติ เบื้องต้นได้เสนอแยกเป็น 3 กลุ่มงานเช่นเดียวกับ สสอ.แต่ด้วยบทบาทการทำงานที่แตกต่างกัน จึงได้สรุปแยกเพียง 2 กลุ่มงานเท่านั้น คือ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริการสุขภาพ และกลุ่มสนับสนุนบริการ ซึ่งจะร่วมงานระบาดวิทยา งานวิชาการ งานบริหารจัดการต่างๆ โดยจัดโครงสร้างแบบนี้ยังทำให้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งได้

“เท่าที่ดูข้อเรียกร้องทบทวนการปรับโครงสร้างฯ ใหม่นี้ เห็นว่าไม่แตกต่างจากที่ สป.สธ.ได้จัดทำขึ้น โดยในส่วนของงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ตามโครงสร้างใหม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มงานสนับสนุนบริการ มีการรองรับภารกิจไว้แล้ว แต่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นภารกิจอันดับต้นๆ ในกลุ่มงานตามที่เรียกร้อง เพราะงานกระทรวงสาธารณสุขยังคงต้องเน้นงานบริการสุขภาพเป็นหลัก เน้นประโยชน์ที่ประชาชนได้รับด้านสาธารณสุข ส่วนงานสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจเสริมเท่านั้น ซึ่งหากนำงานสิ่งแวดล้อมมาขึ้นต้น คงต้องเป็นบทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว”    

นายปรเมษฐ์ กล่าวต่อว่า การเรียกร้องทบทวนการปรับโครงสร้างฯ มองว่า อาจทำให้การเดินหน้าโครงสร้างฯ ถูกดึงออกไป เพราะในที่สุดนายกรัฐมนตรีต้องส่งเรื่องมายัง สธ. และต้องมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรและเจ้าหน้าที่ สธ.โดยตรง คาดว่าคงต้องใช้เวลาเป็นปี ทั้งนี้หากโครงสร้างฯ ใหม่ที่จัดทำขึ้นนี้ได้ถูกประกาศใช้ ไม่แต่เฉพาะ รพ.สต. แต่รวมถึงโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จะเป็นหน่วยงานที่ถูกรองรับโดยกฎหมาย จึงไม่อยากให้มีการดึงเรื่องนี้ออกไป เพราะที่ผ่านมาได้จัดทำโดยผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว อย่างไรก็ตามคงต้องหาจุดร่วมกัน โดย สธ.ต้องเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้

ทั้งนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องจากเป็นช่วงการเลือกตั้งกรรมการสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนนั้น นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มั่นใจ แต่การทำงานที่ผ่านมาเรามองแต่เฉพาะเรื่องงานที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน อีกทั้งการเลือกตั้งกรรมการสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนยังไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เพียงแต่เปิดรับสมาชิกสภาวิชาชีพฯ เท่านั้น  

ส่วนข้อเรียกร้องการปรับบัญชีเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุขและค่าตอบแทนนั้น  นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และเครือข่ายหมออนามัย ได้เข้ายื่นเรื่องต่อสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ โดยเรื่องนี้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ไม่แต่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข จึงอยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา