ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : กลุ่มบริษัทประกันยื่นคำร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียขอขึ้นค่าเบี้ยประกันภัยอีกร้อยละ 6-7 ในปีหน้าอันเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อถึง 4 เท่า ซึ่งประเด็นการขึ้นเบี้ยประกันภัยและขยายสิทธิประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้บรรจุเป็นวาระของกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียในการหารือทางปฏิรูปการประกันสุขภาพเอกชนเดือนนี้

การขึ้นเบี้ยประกันภัยในห้วงที่รายจ่ายด้านการดูแลรักษานับวันมีแต่จะสูงขึ้นจากแนวโน้มประชากรสูงอายุ อุบัติการณ์ของโรคเรื้อรัง และการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพได้สะท้อนให้เห็นความบกพร่องเชิงโครงสร้าง ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาโดยผู้เขียนและคณะดังที่รายงานโดยศูนย์ประสานความร่วมมือนโยบายสาธารณสุขแห่งออสเตรเลียของมหาวิทยาลัยวิกตอเรียชี้ว่า การรวมรายจ่ายด้านสาธารณสุขของรัฐและเอกชนไว้ด้วยกันภายใต้โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคบังคับจะมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันระบบสาธารณสุขให้มีความยั่งยืนในระยะยาว

โครงการประกันสุขภาพภาคบังคับจะเปิดทางให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับบริการจากประกันสุขภาพเอกชนหรือของรัฐ (เช่น เมดิแคร์หรือเมดิแบงค์) ซึ่งผู้ให้ประกันจะต้องให้บริการสาธารณสุขแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วนและครอบคลุมการดูแลรักษาที่จำเป็นทั้งหมด โดยที่ประชาชนทุกคนจะต้องจ่ายเบี้ยประกัน (ในอัตราตามที่กำหนดโดยที่รัฐสมทบเงินให้ส่วนหนึ่ง) ตามสถานะสุขภาพและกำลังทรัพย์ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า

จุดบกพร่องในปัจจุบัน

การที่เบี้ยประกันสุขภาพเอกชนถีบตัวขึ้นอย่างพรวดพราด ก็เป็นผลพวงมากจากความบกพร่องของตัวระบบเอง ดังที่พบปัญหา :

1.ความคุ้มครองซ้ำซ้อนกัน เป็นผลมาจากการที่ผู้ถือประกันสุขภาพเอกชนยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มที่จากเมดิแคร์ ซึ่งหากผู้ถือประกันเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนก็จะไม่สามารถนำสิทธิ์ความคุ้มครองการรักษาในโรงพยาบาลรัฐไปลดหย่อนค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้

2.การคิดอัตราเบี้ยประกันแบบกลุ่มและเปิดรับเฉพาะระยะเวลาที่กำหนด แม้มีข้อบังคับว่าผู้ให้ประกันจะต้องให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพอย่างถ้วนหน้า และต้องกำหนดราคาแน่ชัดสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้ประกันเลือกลูกค้าตามความเสี่ยง (รักษาหรือดึงดูดลูกค้าที่มีสุขภาพดี ขณะที่ยุติหรือกีดกันลูกค้าซึ่งมีความเสี่ยงสูงหรือมีสุขภาพอ่อนแอ) แต่พบว่าการบังคับใช้ก็ยังคงหละหลวม

3.อัตราเงินสมทบจากภาครัฐสำหรับประกันสุขภาพซึ่งคิดตามเบี้ยประกัน (เช่น ส่วนลดภายหลัง) และมาตรการลงโทษด้านภาษีสำหรับผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนตื่นตัว และยังอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อของเบี้ยประกัน

4.ประกันสุขภาพเอกชนของผู้บริโภคไม่ครอบคลุมรายจ่ายการดูแลรักษาทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องสมทบค่าใช้จ่ายเองหรือไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังเช่นบริการเวชปฏิบัติทั่วไปซึ่งได้รับการอุดหนุนจากเมดิแคร์และไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพเอกชน และในอีกทางหนึ่งยังเป็นการขัดขวางผู้ให้ประกันจากการมีส่วนร่วมในมาตรการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิหรือโครงการเชิงป้องกัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีและไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล    

ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นเหตุให้การรักษาพยาบาลกลายเป็นบริการที่กระจัดกระจาย สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และดำเนินไปในลักษณะสองมาตรฐาน

ประกันสุขภาพภาคบังคับเป็นอย่างไร

โครงการประกันสุขภาพภาคบังคับจะกำหนดให้ประชาชนต้องซื้อประกันสุขภาพจากผู้ให้ประกัน โดยที่ผู้ให้ประกันจะต้องมอบความคุ้มครองด้านบริการรักษาพยาบาลตามที่กำหนดแก่ผู้ขอเอาประกันอย่างทั่วถึง ซึ่งนอกเหนือจากบริการเมดิแคร์หรือยารักษาโรคแล้ว ผู้ให้ประกันยังต้องให้ความคุ้มครองบริการพื้นฐานที่จำเป็นไปตลอดชีวิต ตั้งแต่บริการเวชปฏิบัติทั่วไปและยารักษาโรค การดูแลรักษาในโรงพยาบาล และอาจรวมถึงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากบริการพื้นฐานดังกล่าวแล้วผู้ให้ประกันยังอาจต้องให้ความคุ้มครองสำหรับบริการอื่นนอกเหนือจากบริการที่จำเป็นด้วย

อีกด้านหนึ่งบุคคลมีภาระต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพโดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐ โดยที่การอุดหนุนประกันสุขภาพจะคิดตามฐานรายได้และความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ซึ่งจะพิจารณาตามสถานะสุขภาพและความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล กล่าวคือ บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงและมีโรคเรื้อรังหลายโรคจะได้รับเงินอุดหนุนในอัตราที่สูง จึงไม่ต้องสมทบค่าเบี้ยประกันเอง

ระบบใหม่จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเข้ามาแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนและกระจัดกระจายระหว่างภาครัฐและเอกชนในระบบประกันและการคลังสาธารณสุขในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่บูรณาการให้มีความครอบคลุมอย่างทั่วถึง นอกจากนี้หลักการอุดหนุนแก่ผู้ให้ประกันโดยประเมินตามความเสี่ยง จะผลักดันให้ผู้ให้ประกันต้องแข่งขันลงทุนพัฒนาคุณภาพบริการอันจะยิ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีและไกลจากโรงพยาบาล โดยที่ผู้ให้ประกันจะตกเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์หากกีดกันลูกค้าที่มีสุขภาพอ่อนแอหรือมีความเสี่ยงสูงออกจากความคุ้มครอง   

ระบบประกันสุขภาพภาคบังคับนี้จะเอื้อต่อการดูแลรักษาระยะยาวซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยไม่เน้นเพียงให้การรักษาฉับพลันเมื่อบุคคลเกิดเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุดังที่เป็นมา  

นอกจากนี้ระบบประกันสุขภาพที่เปิดทางเลือกโดยรัฐเป็นผู้อุดหนุนตามระดับความเสี่ยง จะยกระดับคุณภาพของบริการรักษาพยาบาลในราคาที่ประชาชนเอื้อมถึงได้

ก้าวต่อไป

การปฏิรูปสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากยังติดเงื่อนไขหลายประการ  และจำเป็นที่จะต้องอาศัยแรงสนับสนุนอย่างจริงจังจากฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ ระบบประกันสุขภาพภาคบังคับไม่ใช่ตัวเลือกเดียวที่จะนำระบบสาธารณสุขไปสู่ความยั่งยืน แต่ตัวเลือกนี้จะช่วยแก้ปัญหาความกระจัดกระจายของบริการรักษาพยาบาลและความคุ้มครองที่ซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลือกซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุดเนื่องจากอาศัยการปรับปรุงจากตัวระบบเดิม (รวมถึงภาคเอกชน)     

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา โครงการประกันสุขภาพภาคบังคับจึงเป็นกรอบการทำงานที่ผู้เขียนและคณะแนะนำ เพื่อจะนำระบบสาธารณสุขของออสเตรเลียไปสู่ความยั่งยืนและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถเอื้อมถึง

ที่มา : The Conversation

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฟรานเชสโก เปาลุชชี่ ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนานโยบายสุขภาพ จาก Sir Walter Murdoch School of Public Policy and International Affairs มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก ประเทศออสเตรเลีย

านูเอล การ์เซีย โกนิ รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริด