ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : โรงพยาบาลรายเล็ก-กลางเดินหน้าขยายกิจการ "มายฮอสพิทอล" ซุ่มศึกษาอีก 2 ดีล หลังฮุบรายเล็กใน "เชียงใหม่-พิษณุโลก-โคราช" กลุ่มจุฬารัตน์ตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีกปีละ 2 แห่ง ขณะที่ "วิภาวดี" เผยสนใจทั้งสร้างใหม่และซื้อกิจการ

แม้ว่าจะเห็นภาพของโรงพยาบาลเครือข่ายขนาดใหญ่เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กออกมาเป็นระยะๆ แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มจะเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยต้นปีมีกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลปิยะเวช ขณะที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ซื้อกิจการโรงพยาบาลรวมแพทย์ ระยอง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และหลายๆ ค่ายยังมีแผนจะเดินหน้าขยายเครือข่ายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

นายสวิจักร์ โลจายะ ประธานกรรมการ บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่งเมื่อปีที่ผ่านมา คือเชียงใหม่ราษฎร์ โรงพยาบาลอินเตอร์เวชการพิษณุโลก และโคราชเมโมเรียล ปีนี้จึงมุ่งรีโนเวต เพิ่มบริการและเครื่องมือแพทย์ บุคลากรเฉพาะทาง ทั้งพาร์ตไทม์และฟูลไทม์ ทั้งยังจะเปลี่ยนชื่อให้เหมือนกัน เพื่อให้เป็นเชนฮอสพิทัล โดยเตรียมงบฯไว้ 50-70 ล้านบาท ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว 70%

"ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นตลาดใหญ่ รายใหญ่ๆ โฟกัสตลาดบน หรือกลาง-บน แต่เราเน้นตลาดระดับกลาง ซึ่งยังมีช่องทางเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่มีโพเทนเชียลอีกหลายเมืองตามการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น"

ทั้งนี้ การลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลจะดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย คือบริษัท มายฮอสพิทอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกและเอเวอร์แลนด์ถือหุ้นอยู่ 100% โดยมีความสนใจขยายเครือข่ายต่อเนื่อง โฟกัสโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กในต่างจังหวัด ที่ยังมีช่องว่างอีกมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโรงพยาบาล 2 แห่ง

สำหรับโรงพยาบาลเชียงใหม่ราษฎร์มีพื้นที่ใช้สอย 1 หมื่น ตร.ม. บนที่ดินเกือบ 3 ไร่ เน้นลูกค้าบัตรทอง แต่จะขยายฐานลูกค้าเงินสดมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลอินเตอร์เวชการพิษณุโลก ขนาด 50 เตียง สามารถขยายได้ถึง 100 เตียง บนที่ดิน 6 ไร่เศษ พื้นที่ใช้สอย 1.8 หมื่น ตร.ม. โรงพยาบาลโคราชเมโมเรียล ขนาด 50 เตียง บนที่ดิน 1 ไร่ครึ่ง พื้นที่ใช้สอย 9 พัน ตร.ม. และยังมีโรงพยาบาลโรคฟันเชียงใหม่ ที่มีแผนขยายรูปแบบของแซตเทลไลต์คลินิก เพื่อรองรับดีมานด์ของตลาดที่สูงขึ้น

ขณะที่ นพ.พลสันต์ พลัสสินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ชลเวช โรงพยาบาลในเครือบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมองหาโอกาสจากการลงทุนขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้า 2 แห่งต่อปี ทั้งลักษณะการซื้อกิจการ สร้างโรงพยาบาลใหม่ และคลินิก ขณะนี้อยู่ ระหว่างดีล 2 แห่ง ส่วนที่เพิ่งซื้อกิจการ โรงพยาบาลรวมแพทย์ ระยอง เพราะมองเห็นศักยภาพเติบโตในแง่ของนิคมอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมาก และเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าไปลงทุน โดยวางแผน รีโนเวตเพิ่มเติมเพื่อปรับภาพลักษณ์และเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

"อย่างไรก็ตาม เทรนด์ซื้อกิจการยังมีต่อเนื่อง เพราะเป็นกลยุทธ์ขยายสาขาที่รวดเร็ว ขณะที่การลงทุนสร้างใหม่มีต้นทุนสูง การบริหารจัดการและบุคลากรการแพทย์ที่หายาก" นพ.พลสันต์กล่าว

ขณะที่นายพิจิตต์ วิริยะเมตตากุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทสนใจทั้งสร้างใหม่และซื้อกิจการ ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ซึ่งมีการเจรจาอยู่เป็นระยะๆ

ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่ปัจจุบันมี 43 สาขา ก็ยังจะเห็นความเคลื่อนไหวในการขยายเครือข่าย เพิ่มอย่างต่อเนื่อง นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีแผนจะเปิดโรงพยาบาลให้ครบ 50 แห่ง โดยปีนี้จะเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพสุราษฎร์ และกรุงเทพเชียงราย

ล่าสุดเพิ่งเปิดโรงพยาบาลเปาโล รังสิต วางโพซิชันนิ่งรับลูกค้าเงินสด เป็นครั้งแรกจากเดิมแบรนด์เปาโลรับลูกค้าเงินสดและประกันสังคม

ขณะที่นายอัฐ ทองแตง ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโลกล่าวว่า แผนลงทุนกำลังศึกษาทำเลเขตปริมณฑลซึ่งน่าสนใจในแง่การขยายตัวของเมือง

ด้านแหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนแสดงความเห็นว่า ภาพแนวโน้มการขยายเครือข่ายของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการ หรือการเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตร ที่มีให้เห็นมากขึ้นดังกล่าวจะทำให้จากนี้ไปโรงพยาบาลขนาดเล็กและไม่มีเครือข่ายจะลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ และต้นทุนการบริหารจัดการสูง ดังนั้นสำหรับรายที่ไม่อยากขายกิจการก็จะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาเสริมขีดความสามารถแข่งขัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 - 7 ก.พ. 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง