ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปัจจุบันการพัฒนาระบบสุขภาพของคนไทยได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาสุขภาพชุมชนหรือสุขภาพภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขมูลฐานในฐานะเป็นแนวคิดและปฏิบัติการที่ใกล้ชิดชุมชนมายาวนานกว่า 3 ทษวรรษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการพัฒนาแนวคิดสาธารณสุขมูลฐานเพื่อนำมาต่อยอดเป็นแนวทางการพัฒนาสุขภาพใหม่ๆได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของนโยบายและองค์กรรูปแบบใหม่ในแวดวงสุขภาพในปัจจุบัน

หากจะย้อนกลับไปถึงกำเนิดและความเป็นมาของสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย บทความวิชาการ “สาธารณสุขมูลฐาน บริการปฐมภูมิกับสุขภาพชุมชน: บทเรียนความท้าทายและบริบทใหม่ของงานสุขภาพภาคประชาชน” เมื่อปี พ.ศ.2551 โดยนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการของสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ การสาธารณสุขมูลฐานในไทยแม้จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2520 แต่การริเริ่มและประสบการณ์การทำงานสุขภาพชุมชนในชนบทมีรากฐานยาวนานมาก่อนหน้านั้น

โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2493 แผนงานควบคุมและป้องกันโรคเขตร้อนเริ่มต้นขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ พยาธิ์ปากขอ และการป้องกันควบคุมวัณโรค เป็นต้น รวมทั้งแผนงานควบคุมโรคมาเลเรียซึ่งเป็นปัญหาโรคเขตร้อนที่สำคัญ แนวทางการทำงานในยุคแรกๆของการควบคุมป้องกันโรคเหล่านี้เน้นออกหน่วยเป็นครั้งคราวเพื่อให้การรักษาพยาบาลหรือให้สุขศึกษา แต่จากบทเรียนของงานที่ได้ผลอย่างจำกัดทำให้มีการปรับแผนงานให้มีลักษณะที่มีชุมชนเป็นฐานและให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากขึ้น อาสาสมัครในชุมชนก็ถูกริเริ่มขึ้นก่อนในยุคดังกล่าวในแผนงานควบคุมมาเลเรียโดยการนำชาวบ้านมาฝึกให้เป็นอาสาสมัครมาเลเรีย ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอันเป็นกลยุทธที่สำคัญที่สุดของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสุขภาพ

นโยบายสาธารณสุขมูลฐานก่อกำเนิดขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองของยุคสงครามเย็นในปี พ.ศ.2518 ในสมัยรัฐบาลคึกฤทธ์ ปราโมช ที่ได้ประกาศให้มีการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่าแก่คนยากจน นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการขยายตัวของระบบบริการสุขภาพในชนบท เช่น สถานีอนามัยและโรงพยาบาลประจำอำเภอ ระบบบริการสาธารณสุขในชนบทได้กลายเป็นที่รองรับแพทย์รุ่นใหม่และนักวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมให้ออกไปรับใช้ชนบท และต่อมายังได้กลายเป็นผู้นำในการแปลงแนวคิดสาธารณสุขมูลฐานไปสู่การปฏิบัติอย่างทุ่มเท

กล่าวได้ว่าทศวรรษแรกของการสาธารณสุขมูลฐานที่กลายเป็นวาระการพัฒนาในระดับชาตินั้น มีการระดมทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการสาธารณสุขมูลฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท สถานพยาบาลขนาดเล็กในชนบทมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีนโยบายให้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาออกไปทำงานในชนบทเพื่อใช้ทุน รวมทั้งการพัฒนาด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากในชนบทรวมถึงการปรับโครงสร้างการจัดการงานสาธารณสุข และการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ส่งผลให้งานหลายด้านเกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุขคลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นภาวะทุโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ การมีน้ำสะอาดไว้ใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน อัตราการได้รับภูมิคุ้มกันและวัคซีน รวมทั้งการมียาและการรักษาพยาบาลโรคง่ายๆที่พบบ่อยในชุมชน

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หนึ่งในผู้บุกเบิกการสาธารณสุขมูลฐานกล่าวถึงความสำเร็จของการพัฒนาสุขภาพในชนบทว่า เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชน ความร่วมมือระหว่างองค์กรรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน การบูรณาการงานและการกระจายอำนาจในการจัดการวางแผน รวมทั้งความเอาจริงเอาจังและการติดตามอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม ทศวรรษต่อมาเมื่อสงครามเย็นยุติลงและประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็วกลับส่งผลให้งานพัฒนาชนบทและการสาธารณสุขมูลฐานกลายเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งในช่วง พ.ศ.2533 หรือเข้าสู่ทศวรรษที่สามนี้เองที่การสาธารณสุขมูลฐานกลายเป็นนโยบายที่ถูกละเลยไปโดยสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน ในช่วงทศวรรษที่ 3 นี้นโยบายและองค์กรทางด้านสุขภาพใหม่ๆได้ถือกำเนิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสำนักงาน (สสส.) หรือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากกว่าเดิม ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านและทำงานร่วมกับชุมชน

การผ่านพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติยังได้ทำให้เกิดกลไกและกระบวนการทำงานใหม่ๆ ทั้งการสร้างจิตสำนึกเรื่องสุขภาพและการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นพลเมือง อีกทั้งบริบททางนโยบายและองค์กรทางด้านสุขภาพใหม่ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นยังส่งผลให้แนวคิดใหม่ๆ และความริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวคิดสุขภาพพอเพียง แนวคิดสร้างนำซ่อม การสร้างระบบบริการที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ แนวคิดเรื่องจิตอาสา เรื่องสุขภาวะทางจิตวิญาณ เรื่องสิทธิมนุษยชนและสุขภาพ รวมทั้งเกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องขององค์กรภาคประชาสังคม

ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการที่ท้าทายทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพไทย อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆดังที่กล่าวมาไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆอย่างไม่มีที่มาที่ไปแต่ล้วนเป็นผลผลิตของกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาของบุคคลและองค์กรที่กล่าวได้ว่ามีประสบการณ์ร่วมจนหล่อหลอมเป็นอุดมการณ์และวิธีคิดในระหว่างที่ทำงานสาธารณสุขมูลฐานและการพัฒนาสุขภาพชุมชนในระยะสามทศวรรษที่ผ่านมา

เก็บความจาก

นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,“สาธารณสุขมูลฐาน บริการปฐมภูมิกับสุขภาพชุมชน: บทเรียนความท้าทายและ

บริบทใหม่ของงานสุขภาพภาคประชาชน” บทความวิชาการนำเสนอในที่ประชุมทิศทางงานสาธารณสุขมูลฐานและเส้นทางงานสุขภาพปฐมภูมิ ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2551 จัดโดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, 2551