ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพร.ท่าบ่อ เจ๋งผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดีทัศน์มากที่สุดในประเทศไทย มีผู้ได้รับการผ่าตัดจนถึงปัจจุบันมากกว่า 14,000 ราย แนะหากใช้สิทธิบัตรทองมารับการผ่าตัดต้องมีผ่านระบบการส่งตัวตามขั้นตอน

นพ.วัฒนา พารีศรี

นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า รพร.ท่าบ่อถือว่าเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่นำเทคนิคการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดีทัศน์ (LC) มารักษาผู้ป่วย ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2537 และได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลที่ทำผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดีทัศน์มากที่สุดในประเทศไทย มีผู้ได้รับการผ่าตัดจนถึงปัจจุบันมากกว่า 14,000 ราย ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดมีทั้งคนไทย และจาก สปป.ลาว แบ่งสัดส่วนเป็น จากอำเภอท่าบ่อ 9% อำเภออื่นๆ ในจังหวัดหนองคาย 44% มาจากจังหวัดใกล้เคียงในเขตสุขภาพที่ 8 คือ อุดรธานี เลย บึงกาฬ นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร ประมาณ  30% ที่เหลือมาจากภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ และมีผู้ป่วยจาก สสป.ลาว ประมาณ 10% 

ทั้งนี้ รพร.ท่าบ่อ เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีเตียงให้บริการ จำนวน 200 เตียง ให้บริการจริง 195 เตียง เป็นโรงพยาบาลชุมชน ระดับ M2 มีแพทย์ประจำ 24 คน ทันตแพทย์ 9 คน เภสัชกร 14 คน พยาบาล 203 คน ซึ่งแพทย์ที่ทำการผ่าตัดนั้น มี ศัลยแพทย์ 4 คน วิสัญญีแพทย์ 2 คน แพทย์ศัลยกรรมกระดูก 1 คน ถือว่ามีศักยภาพมากในการผ่าตัดถุงน้ำดี โดยในปี 2557 ได้ทำการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้อง จำนวน 739 คน ปี 2558 จำนวน 861 คน ผ่าตัดนิ่วทางเดินปัสสาวะ ปี 2557 จำนวน 584 คน และปี 2558 จำนวน 593 และยังได้ผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง ปี 2557 จำนวน 79 ราย ปี 2558 จำนวน 98 ราย ศัลยแพทย์ที่มีอยู่นั้นถือว่าเพียงพอกับการผ่าตัดให้ผู้ป่วย เพราะใช้วิธีการบริหารจัดการด้วยการแบ่งเวรการผ่าตัดกันอย่างเป็นระบบ 

นพ.วัฒนา กล่าวว่า แนวโน้มในอนาคตน่าจะมีคนที่เป็นโรคนิ่วมาผ่าตัดมากขึ้น เพราะการมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ทำให้คนไทยได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ส่วนการให้บริการผู้ป่วยจาก สปป.ลาวนั้น จะเป็นการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก เมื่อเห็นผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและเห็นว่าการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี รักษาหาย ก็จะแนะนำญาติๆ หรือคนรู้จักที่เป็นโรคนี้มาผ่าตัดกับ รพ. ที่ผ่านมาได้ให้บริการผู้ป่วยจาก สปป.ลาว ประมาณ 1,000 คน โดยเก็บค่าผ่าตัดแบบเหมาจ่ายคนละ 30,000 บาท แต่ค่าเหมาจ่ายจะไม่รวมค่าห้องพักพิเศษ ซึ่งมีราคาประมาณ 1,500-1,800 บาทต่อคืน ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาใน รพ.อย่างน้อย 2 คืน หากไม่มีโรคแทรกซ้อน

สำหรับผู้ป่วยคนไทยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่อยู่นอกเขตอำเภอท่าบ่อนั้น  หากจะมารับการผ่าตัดจะต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิบัตรทองอยู่ แต่หากเป็นผู้ป้วยในเขต สุขภาพที่ 8 ก็จะอนุโลมให้ไม่ต้องมีใบส่งตัวก็ได้  แต่หากจะข้ามมาจากเขตสุขภาพอื่นๆ จะต้องได้รับการส่งตัวมารักษาตามขั้นตอนปกติเท่านั้น จึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการผ่าตัดได้ หากมาเองแบบไม่ผ่านระบบการส่งตัวจะต้องจ่ายค่าผ่าตัดแบบเหมาจ่าย  30,000 บาท  

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI  เมื่อวันที่  19 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดย Joint Commission International (JCI) อยู่ในการกำกับดูแลของ The Joint Commission สถาบันด้านการรับรองคุณภาพมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานมานานกว่า 75 ปี โดยโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจะต้องมีการให้บริการที่มุ่งเน้นคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้รับบริการ ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐานนี้.