ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านมแบบบูรณาการครบวงจร ตั้งแต่การตรวจ รักษาและป้องกันกลับมาเป็นซ้ำ พร้อมขยายพื้นที่ดำเนินการอีก 16 จังหวัด

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “กระทรวงสาธารณสุขกับการต้านภัยมะเร็งเต้านมแบบบูรณาการ”

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและการตายของอันดับหนึ่งของสตรีทั่วโลก รวมทั้งสตรีไทย จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ช่วง พ.ศ.2550-2552 พบอัตราการเกิดมะเร็งเต้านม 28.5 ต่อ 100,000 ประชากร ซึ่งสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบชัดเจน แต่ภาวะเสี่ยง คือ พันธุกรรม พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม และความเป็นเพศหญิง

การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือ การค้นหาความผิดปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว ลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำ เป็นการดูแลรักษาที่ครบวงจร เชื่อมโยงในรูปแบบของการจัดการโรค ภายใต้ระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง ที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจร จากชุมชน สู่สถานบริการสุขภาพ และกลับสู่ชุมชน

จากผลการดำเนินงานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านมใน 3 ปี ที่ผ่านมา ดำเนินการครบทุกอำเภอใน 5 จังหวัด และ 1 อำเภอ 16 จังหวัด พบสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-70 ปี จำนวน 1.9 ล้านคน มีการตรวจเต้านมตนเองร้อยละ 80 มีการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์ หากพบความผิดปกติจะส่งต่อเพื่อรับการรักษา มีสตรีที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะต้น จำนวน 1,766 คน และในปี 2559 – 2562 จะขยายผลการดำเนินการไปทุกอำเภอใน 16 จังหวัดที่ดำเนินการเดิมจังหวัดละ 1 อำเภอ

สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 2.พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในทุกระดับ 3.พัฒนาระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดรูปแบบของการทำงานที่เป็นรูปธรรม และ 4.พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ที่ต้องให้ความสำคัญในการรวบรวมจัดเก็บข้อมูล

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกรมอนามัยในการดำเนินงาน คือ เป็นศูนย์กลางการประสานภาคีเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิถันยรักษ์ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายระดับจังหวัด เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมะเร็งเต้านม การรักษาพยาบาล รวมถึงการฟื้นฟูสภาพ โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งของสตรีที่ยังไม่เป็น กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วยให้มีความรู้ มีทักษะ มีความเข้าใจในการรู้จักดูแลตนเอง การตรวจเต้านมตนเองที่ถูกต้อง จนรู้ความผิดปกติ และเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้พบโรคในระยะเริ่มต้นให้เร็วที่สุด สามารถรักษาให้หายได้ โดยมีศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรีรับผิดชอบข้อมูลสารสนเทศ