ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ขยายคลินิกชะลอไตเสื่อมในสถานบริการใกล้บ้าน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคไตและชะลอความเสื่อมไต ลดผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รู้เร็ว รักษาเร็ว ด้วยทีมสหวิชาชีพ ดูแลแบบองค์รวม ขอเชิญชวนใช้วันไตโลก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไต และชะลอการเสื่อมของไต

เมื่อวันที่  11มีนาคม 2559 ที่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เปิดการรณรงค์วันไตโลกของเขตสุขภาพที่ 5 มอบโล่ให้คลินิกโรคไตเรื้อรัง

นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า คนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15–20 ต่อปี สาเหตุจาก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ยาประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อที่เป็นพิษต่อไต ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาปีละกว่า 10,000 ล้านบาท

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์ การคัดกรองโรคไตและชะลอความเสื่อมไต เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รู้เร็ว รักษาเร็ว โดยตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อมขึ้นในโรงพยาบาลทั่วประเทศซึ่งปี 2559 นี้จะขยายให้ครอบคลุมในสถานบริการใกล้บ้าน ทั้งโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่และโรงพยาบาลชุมชนที่มีทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และนักโภชนากร ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวม พร้อมจัดทำคู่มือทีมรักษ์ไตและคู่มือการดูแลตนเองสำหรับประชาชน เน้น 5 แนวทางชะลอไตเสื่อม คือ 1.ดื่มน้ำมากๆ 2.หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน 3.งดเหล้า บุหรี่ 4.หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5.หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน  

ขอเชิญชวนประชาชน ใช้โอกาสในวันไตโลก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไต และชะลอการเสื่อมของไต ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ควบคุมระดับโลหิตและระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที ไม่กลั้นปัสสาวะ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้ห่างไกลจากโรคไตได้

ด้าน นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ได้พัฒนาระบบบริการและการดำเนินงานคลินิกรักษ์ไตในโรงพยาบาล 66 แห่ง ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีทีมผู้จัดการโรคไตเรื้อรัง (CKD Manager) ทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยง โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำหน้าที่คัดกรองและดูแลผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมระดับแรก 1-2 และ 3 ที่ควบคุมได้ดี โรงพยาบาลชุมชนดูแลผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมระดับ 3 ที่ค่าไตเปลี่ยนแปลงควบคุมไม่ได้

และระยะ 4-5 ที่ไม่ยินยอมล้างไตทางหน้าท้องหรือฟอกเลือด ใช้หลักการดูแลแบบองค์รวม วิเคราะห์ปัญหารายกรณี เยี่ยมบ้านโดยทีมสหวิชาชีพและมีทีมหมอครอบครัว และหากมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จะมีระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อในเขตสุขภาพ โดยบูรณาการดำเนินงานในหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และหมู่บ้านลดหวาน มัน เค็ม รวมทั้งใช้นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในชุมชน ช่วยให้เกิดการป้องกัน ดูแล รักษาโรคไตอย่างเชื่อมโยงและครบวงจร ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น