ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

The Conversation: ปัญหาโลกร้อนและพลวัตของภูมิอากาศเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิพุ่งสูงและเกิดฤดูกาลแปรปรวน ทั้งยังเป็นผลให้ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีภาวะเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

บทความต่อไปนี้เป็นข้อมูลสรุปจากการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาดำเนินการศึกษาในเมืองใหญ่ 3 แห่งของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งแม้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยนี้ยังไม่ได้รับตีพิมพ์แต่ก็ได้นำไปรายงานในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศรวมสองวาระเมื่อปีกลาย  

ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีภาวะเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน

ที่มาของการศึกษาวิจัย

แม้การศึกษาวิจัยถึงปัญหาอุณหภูมิโลกที่ผ่านมามีผู้ศึกษาไว้หลายแนวทาง รวมถึงการศึกษาทางภูมิอากาศวิทยา แต่การศึกษาในประเด็นนี้เพิ่งเป็นที่สนใจในด้านสาธารณสุขและระบาดวิทยาก็ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

การศึกษาทางระบาดวิทยานั้นเป็นการศึกษาการกระจายของโรค รวมถึงอิทธิพลที่ส่งผลต่อการกระจายหรือการเกิดโรค ซึ่งจำเป็นต่อการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์ และการกำหนดแนวทางการรับมือกับปัญหา  

อย่างไรก็ดีการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาซึ่งศึกษาในทวีปแอฟริกาปัจจุบันยังคงมีน้อย และจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตามประชากรที่มีภาวะเสี่ยงที่ต่างไปจากประชากรในแถบอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก

เมื่อพิจารณาจากความแตกต่างทั้งด้านสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างและกิจกรรมของประชากรจะเห็นได้ว่า สภาพอากาศร้อนส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านมุงสังกะสีที่สร้างขึ้นแบบชั่วคราว ซึ่งตามข้อมูลสำมะโนประชากรของแอฟริกาใต้ระบุว่า มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านมุงสังกะสี (เพิง) ราว 3.3 ล้านคน หรือประมาณ 1.2 ล้านครัวเรือน 

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เอชไอวี วัณโรค ตลอดจนท้องร่วงก็มีภาวะเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน โดยคาดกันว่า ปัจจุบันแอฟริกาใต้มีผู้ป่วยเอชไอวีกว่า 6 ล้านคนซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

แนวทางการศึกษาวิจัย

การศึกษาวิจัยนี้อาศัยการวิเคราะห์ตัวแบบทางสถิติที่ซับซ้อน โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากทะเบียนสถิติแห่งชาติของแอฟริกาใต้และข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแอฟริกาใต้ระหว่างปี 2549 ถึง 2553 เพื่อติดตามว่าระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกได้อันเป็นผลลัพธ์จากอุณหภูมิและความชื้นนั้นส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติสูงขึ้นหรือไม่ใน 3 เมืองใหญ่ อันได้แก่ เมืองเคปทาวน์ เมืองเดอร์บัน และนครโจฮันเนสเบิร์ก  

การศึกษาวิจัยมุ่งไปที่ผลกระทบจากความร้อนเมื่อระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกได้สูงเกินกว่าอุณหภูมิที่จุดตรวจสอบของแต่ละเมืองซึ่งกำหนดจากตัวแบบทางสถิติ อนึ่ง อุณหภูมิที่เมืองเคปทาวน์กำหนดไว้ที่ 15 องศาเซลเซียส เมืองเดอร์บันที่ 20 องศาเซลเซียส และนครโจฮันเนสเบิร์กที่ 13 องศาเซลเซียส

ซึ่งทั้ง 3 เมืองเป็นตัวแทนของเขตภูมิอากาศที่แตกต่างกัน 3 เขต ได้แก่

เมืองเคปทาวน์ มีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน

เมืองเดอร์บัน มีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน (Aw)

นครโจฮันเนสเบิร์ก มีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร (Cwb)

การศึกษาวิจัยที่เมืองเคปทาวน์ได้วิเคราะห์การเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติเมื่อระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกได้อยู่ระหว่าง 15-27 องศาเซลเซียส โดยพบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ของการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติในทุกกลุ่มอายุจากระดับความร้อนที่สูงขึ้นทุก 1 องศาจากอุณหภูมิจุดตรวจสอบที่ 15 องศา และพบด้วยว่า การเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติสูงขึ้นร้อยละ 2 ในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 60 ปี

ที่เมืองเดอร์บันซึ่งได้ศึกษาการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกได้อยู่ระหว่าง 20-31 องศาเซลเซียส ก็พบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ของการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติในทุกกลุ่มอายุจากระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกที่สูงขึ้นทุก 1 องศาจากอุณหภูมิจุดตรวจสอบที่ 20 องศา ขณะที่การเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติสำหรับระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งองศาสูงขึ้นร้อยละ 1.4 ในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 60 ปีและ 1.9 ในเด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบ  

ด้านนครโจฮันเนสเบิร์กซึ่งมีตัวเลขการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติราว 94,900 รายระหว่างปี 2549 และ 2553 ก็พบอัตราที่สูงขึ้นร้อยละ 0.5 สำหรับการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติในทุกกลุ่มอายุ และสูงขึ้นร้อยละ 1.2 สำหรับการเสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 60 ปีสำหรับระดับความร้อนที่สูงขึ้นทุกหนึ่งองศาจากอุณหภูมิจุดตรวจสอบที่ 13 องศาเซลเซียส โดยระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกได้อยู่ระหว่าง 13-24 องศาเซลเซลเซียส

ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นสัมพันธ์กับจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยเหตุธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิจุดตรวจสอบที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่นในต่างประเทศซึ่งมีสภาพอากาศคล้ายคลึงกัน และสะท้อนว่า ประเทศแอฟริกาใต้มีภาวะเสี่ยงต่อผลกระทบจากความร้อนสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

ก้าวต่อไปของการศึกษาวิจัยนี้จะขยายผลไปยังเมืองอื่นอีก 4 แห่งในแอฟริกาใต้ซึ่งตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศที่แตกต่างกัน  โดยจะเน้นการศึกษาสาเหตุจำเพาะของการเสียชีวิต (เช่น โรคทางเดินหายใจ และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด) ว่ามีความเชื่อมโยงกับสภาพอากาศร้อนหรือไม่

ผู้เขียน: จานิน วิชมานน์ มหาวิทยาลัยพริทอเรีย

ขอบคุณที่มา: www.theconversation.com

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com