ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องคมนตรีและกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่บูรณาการดูแลผู้พิการเชิงรุกโดยชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ 

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่สามารถบูรณาการดูแลผู้พิการเชิงรุกโดยชุมชน

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) จอมบึง จ.ราชบุรี พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารให้แก่ผู้ป่วย 

พญ.ผกาพันธุ์ เปี่ยมคล้า ผอ.รพร.จอมบึง ได้รายงานความคืบหน้าการบริการฟื้นฟูสภาพคนพิการแบบบูรณาการเชิงรุกโดยชุมชน ในพื้นที่อำเภอจอมบึงมีผู้พิการ ทั้งหมด 1,525 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว รองลงมาพิการการเรียนรู้ การได้ยิน การมองเห็น พฤติกรรมทางจิต พิการซ้ำซ้อน ผู้พิการส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย ฐานะทางครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อมาตามนัดทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้ผู้พิการหลายรายเกิดภาวะแทรกซ้อน บางรายใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการไม่เป็น หรือชำรุด จึงทำให้ผู้พิการเสียโอกาสในการฟื้นฟูดูแลตนเอง 

รพร.จอมบึง ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ.2554 เพื่อจัดตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทาน พร้อมทั้งให้ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวได้เข้ารับการอบรม ในการทำขาเทียม เป็นเวลา 4 เดือน ให้สามารถทำขาเทียมให้ผู้พิการขาขาดในพื้นที่ ที่ยากไร้ด้อยโอกาสทุกเชื้อชาติศาสนาด้วยวัสดุภายในประเทศ โดยไม่คิดมูลค่า พร้อมซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องช่วย ผู้พิการ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างอาชีพให้ผู้พิการด้วย สำหรับการบริการที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2554 - 2559 มีผู้พิการขาขาดทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่และสิทธิต่างด้าว มารับบริการ ทั้งสิ้น 210 คน

เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงบริการ ลดความเหลื่อมล้ำ ทาง รพร.จอมบึง ได้ประสาน การทำงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และหน่วยงานในท้องถิ่น จัดบริการเชิงรุกสอดคล้องกับวิถีชุมชน สร้างความร่วมมือของครอบครัวและชุมชน จัดกิจกรรมหน่วย รพ.สต.เคลื่อนที่ทุกเดือน เยี่ยมผู้พิการในชุมชนโดยคนในครอบครัว อสม. ผู้นำท้องถิ่น ชมรมผู้พิการในตำบลร่วมกันวางแผนช่วยเหลือในชุมชน

ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ทำให้ผู้พิการเข้าถึงระบบบริการครบถ้วน ได้รับการฟื้นฟูและอุปกรณ์  มีเครื่องช่วยที่เหมาะสม ได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติทำให้ผู้พิการและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากเครือข่ายบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในพื้นที่