ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” นัดถก รพ.เอกชนพรุ่งนี้ สรุปจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดันประกาศใช้ให้ทันก่อน 7 วันอันตราย เทศกาลวันสงกรานต์ เผยมีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 90 ทั้ง 3 กองทุนยอมรับการปรับรูปแบบการจ่ายจากระบบ “ดีอาร์จี” เป็น การจ่ายแบบกำหนดราคากลาง           

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีวาระการพิจารณานโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ”(EMCO) ผลการดำเนินงาน การสำรองจ่าย และการชำระคืน ซึ่งที่ประชุมได้ถกเถียงถึงมาตรการเพื่อให้เกิดการดำเนินการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิที่เป็นรูปธรรม ตามที่ รมว.สาธารณสุข เร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปก่อนช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลวันสงกรานต์นี้ โดยเฉพาะในประเด็นการจ่ายแบบราคากลางค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) ให้มีการปรับราคากลางที่ทุกส่วนมีความพอใจ

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผลจากการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งมีตัวแทนจาก 3 กองทุนเข้าร่วม ต้องบอกว่ามีความคืบหน้าไปมากร้อยละ 90 โดยเฉพาะในประเด็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบราคากลาง ซึ่งทั้งกรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคมต่างยอมรับได้ ขณะที่ สปสช.เองระบุว่าเป็นไปได้ เพียงแต่ยังต้องมีจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการ สพฉ. นำข้อสรุปที่ได้ไปหารือกับตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน

ทั้งนี้จากการพูดคุยที่ผ่านมากับ รพ.เอกชนระบุว่า ไม่ได้หวังร่ำรวยจากรายได้ผู้ที่ใกล้ตาย แต่เป็นสิ่งต้องทำเพื่อมนุษยธรรม เหมือนเป็นการทำซีเอสอาร์ให้กับประชาชนในประเทศนี้ ดังนั้นจึงขอให้ รพ.เอกชนพิจารณาในส่วนนี้ เพราะเป็นแค่ส่วนน้อย จึงเห็นแนวโน้มน่าจะสำเร็จ จึงได้ประกาศว่าน่าจะเป็นนโยบายที่ดำเนินการได้ก่อน 7 วันอันตราย แต่จนถึงวันนี้โรงพยาบาลยังไม่ตกลง ดังนั้นจึงขอนัดประชุมกับโรงพยาบาลเอกชนในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.59) โดยตนเป็นประธาน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปบนหลักการเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตฉุกเฉิน     

“ในวันพรุ่งนี้หลังการประชุม ครม.ผมได้นัดโรงพยาบาลเอกชนมาพูดคุยถึงนโยบายนี้ และอยากให้ทุกคนมาร่วมมือ มาช่วยกัน หากวันพรุ่งนี้ผมคุยกับโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ข้อสรุป ก็จะประกาศเลยว่าไม่ทัน ซึ่งผลการประชุมก่อนหน้านี้เพียงแต่บอกว่าจะพยายามทำนโยบายนี้ให้ทันช่วง 7 วันอันตราย” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ราคากลางค่ารักษาพยาบาล คือราคาที่กำหนดในอัตราที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ หัตถการแบบนี้ต้องราคาเท่านี้ หากทุกฝ่ายยอมรับและเข้าใจตรงกันก็เดินหน้าได้ ทำอย่างไม่ลองไม่รู้ แต่ไม่อยากให้ลงในรายละเอียดก่อน หากเป็นแบบนั้นคงไม่ต้องทำ

 ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินเพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ แต่ปัญหาคืออัตราการจ่ายที่ไม่เพียงพอ ทำให้ยังมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินกับประชาชนอยู่ ดังนั้นที่ผ่านมาจากการหารือร่วมกันและเสนอให้มีการเปลี่ยนวิธีการจ่ายจากระบบดีอาร์จีเป็นการจ่ายแบบราคากลางแทน เนื่องจากการจ่ายแบบเดิมโรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมรับเพราะมองว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป ขณะเดียวกันการกำหนดราคากลางนี้ต้องอยู่ในอัตราที่ 3 กองทุนไม่กระทบมาก ทั้งนี้อาจมีการเพิ่มเติมในส่วนของค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม อย่างค่าแรงพยาบาล เภสัชกร เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของการคิดค่ายา ข้อสรุปครั้งสุดท้ายคือให้ใช้ค่ายาตามราคาของกรมบัญชีกลางในการคำนวณ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับโรงพยาบาลเอกชนอยู่

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนของการรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนหลัง 72 ชั่วโมงไปแล้วนั้น ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสวัสดิการราชการยังมีปัญหาอยู่มาก โดยขณะนี้จะมีการพูดคุยกับโรงพยาบาลใน กทม.และปริมณฑล โดยจะให้มีศูนย์ประสานเพื่อสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดรูปแบบของระบบ ทั้งนี้อาจกำหนดให้ใช้รูปแบบการจ่ายแบบราคากลางให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่รับส่งต่อผู้ป่วยใน 72 ชั่วโมง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการรับส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งยังคงต้องลงในรายละเอียดอีกครั้ง