ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 เวลา 11.00 น. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ จัดงานแถลงข่าว “รามาธิบดีกับการผลักดันวาระแห่งชาติ: เรื่องการลดบริโภคเกลือและโซเดียม” ขึ้น ณ ห้องท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รามาดัน “ลดเกลือ” เป็นวาระแห่งชาติ

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “การบริโภคเกลือและโซเดียมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทย ทั้งยังก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการดำเนินการและประสานงานการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมการบริโภคเกลือและโซเดียมในทุกระดับ โดยให้มีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม”

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า การบริโภคเกลือ/โซเดียมมากจนเกินไป จะส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาว ซึ่งคนไทยกินเกลือถึง 10.8 กรัมต่อวัน มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 5 กรัมเท่านั้น และเมื่อสอบถามคนส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่า กินเกลือมากเกินไป จนกระทั่งเกิดผลเสียแก่ร่างกายแล้ว ยิ่งโดยเฉพาะคนที่กินอาหารแล้วต้องปรุงรส พวกน้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม เป็นเครื่องปรุง 5 ประเภทที่มีเกลือ/โซเดียมมากมากที่สุด หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้ง่ายขึ้นคือ เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6 กรัม หรือว่าน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1.1-1.4 กรัมนั่นเอง”

ในส่วนของการที่โรงพยาบาลรามาธิบดีที่เป็นต้นแบบในการผลักดันนโยบายลดเค็มนั้น นพ.สมเกียรติ  ลีละศิธร รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “หลักๆ คือการสร้างความตระหนักรู้ถึงข้อเสียของการบริโภคเค็ม ดังนั้น เมื่อเข้ามาที่โรงพยาบาลเราจะพบสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นป้าย แผ่นพับ รวมถึงเสียงเพลงและการเชิญชวนให้ลดการกินเค็มจากคุณมนต์สิทธิ์ คำสร้อย นอกจากนั้นเรายังมีการปรับปรุงสูตรอาหารโดยฝ่ายโภชนาการ และขอความร่วมมือจากร้านค้าทั่วทั้งโรงพยาบาลให้ลดการใส่เกลือในอาหารลง อีกทั้งยังมีการติดฉลากบนอาหารที่ส่งไปยังผู้ป่วยถึงแคลอรี่และปริมาณโซเดียมที่ได้รับ และท้ายที่สุดเรามีการตรวจสอบและติดตามปริมาณเกลือที่ได้รับในผู้ป่วยและบุคลากร ด้วยเครื่องวัดความเค็มของอาหาร เราพยายามทำให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ โดยเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดที่ผู้มารับบริการสามารถเข้าใจได้”

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจะผลักดันนโยบายเรื่องการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร ว่า “แท้จริงแล้วองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายที่จะให้ผู้บริโภคลดการบริโภคเกลือลง 30% ก่อนปี 2026 ซึ่งทางคณะฯ เองได้มองถึงความสำคัญและความจำเป็นของปัญหาเรื่องผู้ป่วยที่มีมากขึ้น อันเนื่องมาจากการบริโภคเกลือเป็นลำดับแรก แล้วจึงพยายามหาทางแก้ไข โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการจัดทำยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้ประชาชนเรื่องอันตรายของการบริโภคเกลือ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ปริมาณเกลือหรือใช้สารทดแทนเกลือให้มากขึ้น”