ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : คปภ.เล็งจุดพลุ "ประกันภัยหมอผ่าตัด" ช่วยเคลียร์ค่าฟ้องร้องกรณีหมอผิดจริง ลดปัญหาสมองไหลไปโรงพยาบาลเอกชน ระบุข้อพิพาทมีแนวโน้มสูงขึ้นจากกระแสคนไทยแห่ทำศัลยกรรมเพิ่มขึ้น รับมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาด "จมูกเบี้ยว-เสริมอกมีปัญหา"

นายสุทธิพล ทวีชัยการ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.เตรียมให้มีการทำประกันภัยสำหรับศัลยแพทย์ หรือหมอผ่าตัดโดยตรง เพื่อให้ความคุ้มครองจ่ายค่าเสียหายจากการฟ้องร้องแทนหมอ หากถูกพิสูจน์ว่าหมอเป็นฝ่ายผิดจริง

โดยจะเร่งหารือกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองและเบี้ยประกันที่เป็นประโยชน์ทุกฝ่าย ซึ่งจะมีให้เลือกทั้งประกันภัยส่วนบุคคล และประกันภัยกลุ่ม

ทั้งนี้ กลุ่มหมอผ่าตัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการรักษาเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเกิดอุบัติเหตุมา ดังนั้นเวลาตัดสินใจค่อนข้างจำกัดและอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ประกอบกับระยะหลังคนไทยก็นิยมทำศัลยกรรมเสริมความงามเพิ่มขึ้น จึงอาจเกิดข้อพิพาทและมีการฟ้องร้องมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นผ่าจมูกเบี้ยว เสริมหน้าอกเน่า

"ที่ผ่านมา ทางราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย (รวศท.) หารือกับ คปภ. ต้องการให้นำระบบประกันภัยเข้าไปให้ความคุ้มครองวิชาชีพแพทย์ เพื่อช่วยลดปัญหากรณีหมอผ่าตัดถูกผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกรณีผ่าตัดและเกิดความผิดพลาด จนทำให้หมอต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากหากแพ้คดี"

ทั้งนี้ ยังพบว่าบางครั้งหมอผ่าตัดถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นหลัก 10 ล้านบาท ซึ่งหมอบางส่วนไม่ได้มีฐานะร่ำรวย และถูกฟ้องจนหมดตัวไม่มีเงินจ่าย

สำหรับหมอผ่าตัดในโรงพยาบาลรัฐบาลจะเกิดปัญหามากกว่าหมอโรงพยาบาลเอกชน กรมธรรม์ดังกล่าวจะช่วยรับมือข้อพิพาท ที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งจะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขให้หมอผ่าตัดทำงานเต็มที่ ขณะที่ผู้ป่วยเองก็มีโอกาสรับชดเชยค่าเสียหายจากประกันที่เป็นระบบกว่าเดิม

นอกจากนี้จะช่วยลดปัญหาการย้ายงานของหมอผ่าตัดได้อีกด้วย เพราะด้วยการติดขัดระบบราชการไม่คล่องตัว ส่งผลให้ระยะหลังเริ่มเห็นหมอผ่าตัดทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลลดลง หันไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะระบบคุ้มครองความเสี่ยงมีน้อยกว่า และแม้จะมีอัยการหรือกองทุนเข้ามาดูแล ก็มีวงเงินช่วยเหลือจำกัด

นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า ประกันภัยสำหรับหมอผ่าตัดโดยตรง หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปลุกกระแสการทำประกันภัยผู้ประกอบวิชาชีพให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ที่ผ่านมามี 4-5 บริษัทประกันเข้ามารับประกันความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยม เพราะเป็นประกันแบบรวมๆ มีทั้งทันตแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และเบี้ยประกันยังแพงอยู่

ปัจจุบัน รวศท.มีสมาชิก  4,000 คน ซึ่งคปภ.เตรียมลงนามร่วมมือกับ รวศท.เพื่อให้คำแนะนำความรู้ด้านประกันภัยแก่แพทย์ และเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยฯ สามารถเผยแพร่ให้สาธารณะรับทราบเพิ่ม และยังเป็นการส่งเสริมใช้ระบบประกันเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงในการประกอบวิชาชีพ

ทั้งนี้ เชื่อว่าการทำประกันภัยคุ้มครองศัลยแพทย์จะได้รับการตอบรับที่ดี และหากประสบความสำเร็จ คปภ.พร้อมขยายการทำประกันภัยไปคุ้มครองวิชาชีพอื่น เช่น หมอฟัน วิสัญญีแพทย์ หรืออาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงสูง

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 เมษายน 2559