ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.ให้สถานบริการในสังกัด สำรวจความเสียหายจากพายุฤดูร้อน เบื้องต้นได้รับรายงาน 6 แห่งใน 4 จังหวัด เร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้โดยเร็วไม่ให้กระทบกับการจัดบริการประชาชน กำชับให้ทุกแห่งเตรียมพร้อมรองรับ อาทิ เร่งสำรวจจุดเสี่ยงและกำจัด เช่น ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้า หรืออาคาร เตรียมพร้อมเครื่องสำรองไฟฟ้า น้ำมัน แผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง มีลมกรรโชกแรง และมีลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ ทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย ต้นไม้ เสาไฟ ป้ายโฆษณาล้ม รวมทั้งสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหาย 6 แห่ง ใน 4 จังหวัดได้แก่

1.จังหวัดบึงกาฬ ที่โรงพยาบาลบึงกาฬ เสาไฟฟ้าหักทับบ้านพักของเจ้าหน้าที่หลังคาได้รับความเสียหาย

2.จังหวัดนครสวรรค์ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังข่อย อ.ไพศารี น้ำท่วมบริเวณถนนด้านหน้าโรงพยาบาล

3.จังหวัดสกลนคร เสียหาย 3 แห่งคือ โรงพยาบาลเต่างอย ป้ายด้านหน้าโรงพยาบาลพังเสียหาย โรงพยาบาลกุสุมาลย์ เพดานห้องทันตกรรมทะลุ โรงพยาบาลเจริญศิลป์ ตึกผู้ป่วยนอกประตูหน้าต่างพังเสียหาย

4.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่โรงพยาบาลหัวหิน เสาไฟฟ้าล้มทับหม้อแปลงไฟฟ้าพังเสียหาย กระทบกับการจัดบริการผู้ป่วย เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-scan) ต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้เคียง ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 53 คน ใช้ระบบสำรองไฟฟ้าสำรอง ซึ่งขณะนี้แก้ไขระบบไฟฟ้าได้แล้ว 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ทั้งหมดไม่มีผู้ได้รับการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กำชับให้เร่งซ่อมแซม  โดยสถานบริการสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิซึ่งประกาศฉบับล่าสุดยังระบุว่าจะมีหลายพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุ โดยเฉพาะจังหวัดในตอนบนของประเทศ โดยให้เตรียมพร้อมรับมือดังนี้

1.เร่งสำรวจจุดเสี่ยง เช่น ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้า หรืออาคาร พร้อมกำจัดความเสี่ยง 

2.เตรียมแผนรองรับ กรณีไฟฟ้าดับ สำรวจความพร้อมเครื่องสำรองไฟฟ้า น้ำมัน แผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

3.เตรียมพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม การขนย้าย เวชภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์

และ 4.แผนการจัดบริการประชาชน เตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉิน สำรองเตียง รองรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน

นอกจากนี้ ได้ให้ทีมหมอประจำครอบครัว และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ติดตามให้การดูแล ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด เด็กเล็ก รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวติดเตียงติดบ้าน ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แนะประชาชนที่มีโรคประจำตัว หากยาหมดและไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ได้ตามนัด ขอให้แจ้งทีมหมอประจำครอบครัว หรือ อสม. หรือแจ้งสายด่วน1669