ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ อย.เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร โดยการตรวจวิเคราะห์ยาแผนปัจจุบันที่อาจมีการนำมาใช้ผสมในอาหาร เพื่อให้มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างโดยตรวจ 7 กลุ่ม ได้แก่ ยาลดน้ำหนัก ยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาลดความอยากอาหาร ยาระบาย และวัตถุออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร ปี พ.ศ. 2556-2558 โดยเก็บตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่อาจจะมีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสม จำนวนทั้งสิ้น 1,160 ตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 391 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 690 ตัวอย่าง เครื่องดื่ม 49 ตัวอย่าง และอาหารอื่นๆ 30 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำแนกเป็น

กลุ่มยาลดน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์ 304 ตัวอย่างพบไซบูทรามีน 44 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 14.5

กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบ 27 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 26.2 โดยพบซิลเดนาฟิล 26 ตัวอย่าง และทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง

กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ตรวจวิเคราะห์ 155 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.6  

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำแนกเป็น

กลุ่มยาลดน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์ 609 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 122 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 20

กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 159 ตัวอย่าง พบ 69 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 โดยพบซิลเดนาฟิล 40 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 4 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 20 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาเดนาฟิล 5 ตัวอย่าง

กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 51 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.9 กลุ่มยาระบาย ตรวจวิเคราะห์ 197 ตัวอย่าง พบฟีนอล์ฟทาลีน 1 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.5

โดยมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจ พบว่า มียาแผนปัจจุบันถึง 2 กลุ่ม 2 ตัวอย่าง โดยพบไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน

เครื่องดื่ม จำแนกเป็น กลุ่มยาสเตียรอยด์ตรวจวิเคราะห์ 28 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21.4

นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มียาแผนปัจจุบันผสมอยู่จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค จากผลข้างเคียงของยาหรือปริมาณยาที่ได้รับเกินขนาดและอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ผู้ใช้ยาลดน้ำหนัก ที่มีการใช้ไซบูทรามีน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก หรือผู้ใช้ยาลดความอยากอาหารที่มีการใช้เฟนฟลูรามีนอาจก่อให้เกิดภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือผู้ใช้ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ อาจมีอาการหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก

อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บริโภคที่ประสงค์จะบริโภคอาหารดังกล่าวต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาและหากบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มดังกล่าวแล้วเกิดอาการผิดปกติ ควรหยุดการบริโภคทันที และรีบไปพบแพทย์ สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเราเอง โดยใช้หลักการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ