ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประชุมผู้ประกอบการคลินิกทั่ว กทม.ให้ร่วมสร้างความเชื่อมั่นและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เน้นให้ปฏิบัติตามกฎหมาย สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และกฎหมายวิชาชีพอย่างเคร่งครัด ชี้แพทย์ต้องประจำการที่คลินิกตลอดเวลา ห้ามเดินสายรักษาที่อื่น เผยในรอบ 6 เดือน ปี 2559 ได้รับเรื่องร้องเรียน 205 เรื่องดำเนินคดีไปแล้ว 16 ราย ส่วนใหญ่ ลักลอบเปิดคลินิก และใช้ผู้ที่ไม่ใช่แพทย์รักษา

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้ประกอบกิจการ ผู้ดำเนินการคลินิกใน กทม.ทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้คลินิกปฏิบัติตามกฎหมาย ร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นและรับผิดชอบแก่ผู้บริโภค ให้ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ผลการคุ้มครองผู้บริโภคของ สบส.รอบ 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ตั้งแต่ ต.ค.58 - มี.ค.59 ได้รับเรื่องร้องเรียน จำนวน 205 เรื่อง โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งตลอดปีมี 348 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการของคลินิก เช่น บริการไม่สุภาพ ในจำนวนนี้ได้ดำเนินคดี จำนวน 16 ราย กระทำผิด เช่น การเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย.

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบการกระทำผิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 33 ดังนั้น จึงต้องชี้แจง ทำความเข้าใจ ผู้ประกอบกิจการ ผู้ดำเนินการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากทุกแห่งมีมาตรฐานจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้รับบริการทั้งไทยและเทศ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อวงการแพทย์ไทย ที่ใส่ใจคุณภาพบริการมากกว่าผลกำไร

นพ.บุญเรือง ได้กำชับให้คลินิกทุกแห่งทั้งใน กทม. หรือต่างจังหวัด ให้รักษาคุณภาพมาตรฐานทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งการโฆษณาให้ถูกต้องตามกฎหมายสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ประกอบด้วย

1.สถานที่ต้องสะอาด มีห้องตรวจหรือห้องให้การรักษาเป็นสัดส่วน มิดชิด ปลอดภัยต่อผู้รับบริการ เครื่องมือได้มาตรฐาน

2.ต้องมีแพทย์ประจำการที่คลินิกตลอดเวลาทำการ ห้ามเดินสายรักษาที่อื่น หากตรวจพบผู้ประกอบกิจการจะมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

3.เครื่องมือ ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในคลินิก ต้องมีทะเบียน อย.

4.ชื่อคลินิก ต้องไม่ใช้คำที่มีลักษณะชักชวน เป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง เช่น ศูนย์บริการครบวงจร แห่งแรก เป็นต้น

และห้ามโฆษณาเครื่องมือแพทย์ว่าสามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษา 7 กลุ่มโรค ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์หรือ อัมพาต จิตเวช ความดันโลหิต เอดส์ และโรคหรืออาการทางสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2556 เป็นต้นมา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขณะนี้ สบส.ได้ขึ้นทะเบียคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 23,488 แห่ง กว่าร้อยละ 80 อยู่ในต่างจังหวัด ที่เหลืออยู่ใน กทม. 4,955 แห่ง ประเภทวิชาชีพ 12 สาขา ได้แก่ คลินิกเวชกรรมทั่วไปและเฉพาะทาง คลินิกทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทาง คลินิกทันตกรรม ชั้น 2 คลินิกการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกสหคลินิก คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้น 2 และมีคลินิกประเภทการประกอบโรคศิลปะ ที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2558 อีก 7 ประเภท ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการแล้ว คือ สาขาการแพทย์แผนจีน จำนวน 66 แห่ง อยู่ใน กทม. 31 แห่ง ที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด ส่วนอีก 6 ประเภท ได้แก่ สาขารังสีเทคนิค สาขากายอุปกรณ์ สาขากิจกรรมบำบัด สาขาจิตวิทยาคลินิก สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขาแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย ยังไม่มีผู้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการ