ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พร้อมด้วยองค์กรด้านการวิจัยและสุขภาพ ร่วมทบทวนบทบาทและพัฒนายุทธศาสตร์การดำเนินงานของ สวรส.ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสถานการณ์ปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนไปร่วมพัฒนาบทบาท คาดหวังปรับบทบาทภารกิจ ตลอดจนปรับโครงสร้าง สวรส.สู่การเป็นหน่วยงานวิจัยสุขภาพระดับชาติ หรือ National Institutes of Health (NIH)

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุม HSRI Retreat เพื่อทบทวนบทบาทและพัฒนายุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสถานการณ์ปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนไป โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษา รมว.สธ. คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สวรส. ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานวิจัยและสุขภาพ ตลอดจนองค์กรหน่วยงาน สถาบันการศึกษาร่วมการประชุมในครั้งนี้ อาทิเช่น สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ม.มหิดล ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.มหาสารคาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอต่อบทบาทภารกิจของ สวรส. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กทม.

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และองค์กร ส ต่างๆ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องรวมศักยภาพให้เป็นหนึ่ง เพื่อผลักดันผลงานให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ สวรส. มีงานวิจัยด้านการพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพอย่างมากมาย โดยส่วนหนึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือ Rational drug use (RDU) ซึ่งการศึกษาพบว่า หากโรงพยาบาลสามารถควบคุมการใช้ยาได้เหมาะสมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้นับหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนรับไปดำเนินการ RDU Hospital  รวมทั้งเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ Antimicrobial Resistance (AMR)  

“กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการจัดระบบ Value Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่ดำเนินการเรื่อง Health Care Reform ซึ่งทำให้เกิดการมุ่งเน้นผลลัพธ์การบริการสุขภาพแก่ประชาชนได้มากที่สุดและใช้งบประมาณน้อยที่สุด โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องการองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ การดำเนินงานของ สวรส.ต้องมีความชัดเจนว่าจะวิจัยอะไร เพื่ออะไร นำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างไร และที่สำคัญคือ ควรพิจารณาว่าควรจะต้องทำวิจัยอะไรก่อนหลังเพื่อลดช่องว่างของระบบสุขภาพ โดยผลที่คาดหวังจากการประชุมครั้งนี้ เพื่อปรับบทบาทภารกิจ สวรส. ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมุ่งเป้าไปสู่การเป็นหน่วยงานวิจัยสุขภาพระดับชาติ หรือ National Institutes of Health (NIH) โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายออกไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ทางด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุม HSRI Retreat ครั้งนี้ เพื่อทบทวนพันธกิจและยุทธศาสตร์ของ สวรส.ให้มีความคมชัดที่จะนำไปสู่การปรับบทบาทให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมา สวรส.มีผลงานวิจัยสำคัญๆ เช่น ผลงานวิจัยด้าน Antimicrobial Resistance (AMR) ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา ผลงานวิจัยด้านประชากรกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ภายใต้แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ผลงานวิจัยด้านระบบอภิบาลสุขภาพและเขตสุขภาพ และประเมินนโยบายสุขภาพ ภายใต้แผนงานวิจัยระบบอภิบาลสุขภาพ และผลงานวิจัยด้าน Health Exam Survey ภายใต้แผนงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ฯลฯ

สำหรับโอกาสในการพัฒนาและขยายบทบาท นพ.พีรพล กล่าวว่า ปัจจุบัน สวรส.ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ให้มีบทบาทมากขึ้น โดยการบริหารทุนวิจัยให้ครอบคลุมการวิจัยสุขภาพทั้งหมด นอกเหนือจากการทำงานวิจัยระบบสุขภาพ รวมทั้ง สวรส. ยังได้บูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2560-2564) กับยุทธศาสตร์ สวรส. เพื่อเติมเต็มช่องว่างความรู้ในประเด็นวิจัยสำคัญให้ครบถ้วนในทุกมิติ

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวในการบรรยายเรื่องระบบวิจัยและทิศทางการพัฒนาวิจัยกับยุทธศาสตร์วิจัยของประเทศไทยว่า ประเทศมีระบบวิจัยมานาน แต่ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ในหลายด้าน ได้แก่ หน่วยงานด้านระบบวิจัยส่วนใหญ่มีเพียงเป้าหมายขององค์กร แต่ยังขาดเป้าหมายระดับมหภาคในภาพรวมของประเทศ ขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกระดับ งานวิจัยที่ได้รับทุนส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยขนาดเล็กและขาดความต่อเนื่อง มีความซ้ำซ้อนของโครงการวิจัยและการจัดสรรงบประมาณ และผลจากงานวิจัยยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

โจทย์วิจัยยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ รวมทั้งการประเมินผลความคุ้มค่าจากงานวิจัยยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หน่วยงานวิจัยควรมาร่วมทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนโยบายวิจัยร่วมกัน โดยเราต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดนโยบายการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ เวทีเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ อาทิเช่น บทบาท สวรส. ยังต้องธำรงรักษาความเข้มแข็งของการวิจัยระบบสุขภาพไว้ และมีการปรับบทบาทให้ครอบคลุมการวิจัยด้านสุขภาพ โดยขยายขอบเขตไปสู่ Medical Research Clinical Research และ Technology Research การทำหน้าที่เชื่อมโยงความต้องการเชิงระบบกับประเด็นวิจัย เชื่อมโยงประเด็นวิจัยกับหน่วยงานวิจัยและนักวิจัย เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง การจัดลำดับความสำคัญและกำหนดเป้าหมายประเด็นวิจัยด้านสุขภาพอย่างชัดเจน โดยลงทุนกับสิ่งที่มีความสำคัญ (Potential) และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

การบูรณาการงานวิจัย โดยใช้กลไกคณะกรรมการ สวรส. ที่มาจากหลายภาคส่วน ที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนได้ การส่งเสริมการสร้างนักวิจัยใหม่ เพื่อเพิ่มนักวิจัยทั้งในระบบกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย รวมทั้งพัฒนาบทบาทด้าน Research Translation เพื่อนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบได้ นอกจากนี้ ควรบูรณาการยุทธศาสตร์ สวรส. กับยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติให้เกิดความสอดคล้องกัน

สำหรับข้อเสนอการวิจัยที่สำคัญ เช่น ผลผลิตจากงานวิจัย ควรใช้ได้จริง และควรสนับสนุนการวิจัย Application หรือปลายน้ำด้วย วิจัยช่องว่างเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริงและเกิด Role Model สำหรับอนาคต งานวิจัยเชิงระบบสุขภาพต้องทำให้เกิดคำตอบเชิงระบบและสามารถขับเคลื่อนไปสู่นโยบาย และเกิดผลในการนำไปปฏิบัติได้จริง

นอกจากนั้นเสนอให้มีการจัดการเพื่อรองรับการขอสนับสนุนองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ เช่น สสส. สปสช. สธ. ฯลฯ ที่จะนำองค์ความรู้นั้นไปขับเคลื่อนระบบสุขภาพและสังคมต่อไป รวมทั้งงานวิจัยเชิงนโยบาย ทั้งในมิติของการกำหนดนโยบายหรือการประเมินนโยบาย ต้องทำได้เร็วและทันใช้งานได้จริง

ส่วนโจทย์หรือประเด็นวิจัยที่ สวรส. ควรดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ ประเด็นด้านเด็กและเยาวชน สุขภาพจิต ระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างจังหวัดที่ย้ายเข้ามาในเขตเมือง รวมทั้งแรงงานต่างด้าว การศึกษา Input ของระบบวิจัย ในสภาพการณ์ปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ การสังเคราะห์งานวิจัยที่ดำเนินการแล้ว เพื่อนำไปผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ช่องว่างของระบบเพื่อการพัฒนา รวมทั้ง การวิจัยด้านระบบบริการสาธารณสุขในต่างจังหวัด และการกระจายอำนาจ ภายใต้ระบบสาธารณสุขว่าควรเป็นอย่างไร เป็นต้น