ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผย ครม.อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งเป้าทำให้ปลาในแหล่งน้ำมีพยาธิน้อยกว่าร้อยละ 1 คน ผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับน้อยกว่าปีละ 6 แสนคน อัตราการตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงร้อยละ 50

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี 21 มิถุนายน 2559 อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน โดยระยะเริ่มต้น 3 ปีแรกเป็นโครงการรณรงค์ฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปี 2559 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษาในปี 2560 ส่วนระยะ 2 จะขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ให้เกิดการแก้ปัญหายั่งยืนและผลักดันให้เป็นการดำเนินงานในแผนงานปกติ

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยพบผู้ป่วยประมาณ 28,000 คนต่อปี เสียชีวิตเฉลี่ย 8 คนต่อวัน สาเหตุจากพยาธิใบไม้ตับ มีสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคสำคัญคือ หอย ปลา สุนัข แมว ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคปี 2557 พบปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดมีพยาธิใบไม้ตับสูงถึงร้อยละ 60-70 คนกินปลาแบบดิบๆ ทำให้คนป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับปีละ 6 ล้านคน ส่งผลให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีปีละ 14,000 คน ร้อยละ 90 เสียชีวิตภายใน 1 ปี อัตราการเสียชีวิต 20 ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชายวัยทำงาน อายุ 40, 50, 60 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว

กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าภายใน 10 ปี ชุมชนปลอดภัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยดำเนินการทำให้ปลาในแหล่งน้ำมีพยาธิน้อยกว่าร้อยละ 1 ผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับน้อยกว่า 6 แสนคนต่อปี อัตราการตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงร้อยละ 50  หลังได้รับการวินิจฉัยว่าป่วย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 จะดำเนินการในจังหวัดที่มีปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี 27 จังหวัด อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด และจังหวัดสระแก้ว มีเป้าประสงค์การทำงานคือ ประชาชนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ ชุมชนมีศักยภาพในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างเข้มแข็งยั่งยืน กลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้าดีเข้าถึงระบบบริการ ได้รับการดูแลรักษาแบบองค์รวมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

โดยมีมาตรการการดำเนินงาน 9 ข้อคือ

1.การคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ กลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 4.1 ล้านคน

2.ตรวจมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตราซาวด์ ในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวน 5 ล้านคน

3.รักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยการผ่าตัด 15,100 คน

4.ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย แบบประคับประครอง จำนวน 75,500 คน     

5.สอนเด็กนักเรียนเพื่อปรับพฤติกรรม ไม่บริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ

6.จัดการสิ่งแวดล้อม

7.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอนามัยประชาชน

8.พัฒนาด้านวิชาการ

และ 9.พัฒนาฐานข้อมูลรายบุคคล