ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอโสภณ” VDO Conference กับ ผอ.รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด กำชับนโยบายเร่งด่วนพร้อมให้ข้อมูลความก้าวหน้า เรื่องโครงสร้าง อัตรากำลัง ค่าตอบแทนเหมาจ่าย กรอบโครงสร้างของ รพ.สต.จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ส่งเสริม, รักษา, สนับสนุน งบดำเนินการขั้นต่ำของ รพ.สต. สธ.ได้ดำเนินการแล้วเหลือความก้าวหน้าตำแหน่งชำนาญการพิเศษที่ต้องพิจารณาในภาพรวมของทุกวิชาชีพ พร้อมจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปีงบประมาณนี้ 

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิศิษฏ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สาธารณสุขอำเภอ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ กำชับนโยบายเร่งด่วนพร้อมให้ข้อมูลความก้าวหน้าเรื่องโครงสร้าง อัตรากำลัง ค่าตอบแทนเหมาจ่าย งบดำเนินการขั้นต่ำของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ว่า เป็นครั้งแรกที่ได้พูดคุยกันผ่านการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ที่ผ่านมาก็ได้มีการสื่อสารกันโดยตลอดทั้งผ่านระบบผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและทางโซเซียล

โดยครั้งนี้ จะเป็นการเสริมในส่วนที่เป็นนโยบายเร่งด่วนและชี้แจงความก้าวหน้าข้อเสนอจากทาง รพ.สต. ดังนี้

1.ขอให้เจ้าหน้าที่สื่อสารทำความเข้าใจกับ อสม.และประชาชน เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยืนยันว่าไม่มีการล้มระบบบัตรทองหรือทำให้เป็นบัตรอนาถา เพราะเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยที่จะได้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด งานไม่ได้ชะงัก กำลังช่วยกันดำเนินการเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2560 และก้าวต่อไปที่จะทำร่วมกันคือการพัฒนาคุณภาพบริการ ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ติดกับประชาชน ยึดมั่นและภูมิใจที่ได้ทำงานดูแลประชาชนร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ

2.โครงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ 600 ล้านบาทและจะเพิ่มเป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 ขอให้ รพ.สต.จัดระบบการดูแล โดยเป็นผู้จัดการโครงการ อบรมอาสาสมัครดูแล (care giver) ทำแผนการดูแลผู้สูงอายุ และเสนอที่ประชุมท้องถิ่นเพื่อจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เน้นการป้องกันและดูแลรักษา ที่สำคัญผู้ดูแลผู้สูงอายุ ขอให้เป็นระบบอาสาสมัคร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดูแล ไม่เป็นภาระเรื่องงบประมาณในอนาคต  

3.โครงการ “คลินิกหมอครอบครัว” ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ และเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการพัฒนาบริการปฐมภูมิ ให้คนไทยมีหมอประจำครอบครัว ด้วยการกระจายแพทย์เวชศาสตร์ พยาบาล สหวิชาชีพ ดูแลประชาชนเป็นทีมในสัดส่วนที่เหมาะสม ด้วย “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยี” โดยจะเริ่มดำเนินการในเขตเมือง 48 cluster ในเขตชนบทเริ่มในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 48 cluster และจะขยายให้มี 6,500 ทีมทั่วประเทศใน 10 ปี  

4.ขอบคุณที่ รพ.สต.ได้ร่วมกับ อสม.ดำเนินโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 70 ปี ในปี 2559 และเนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา ในปี 2560 และ 91 พรรษา 

5.ข้อเสนอที่ รพ.สต.เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง อัตรากำลัง ค่าตอบแทนเหมาจ่าย งบดำเนินการขั้นต่ำ (Fix Cost) กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแล้ว คงเหลือในส่วนของความก้าวหน้า (ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ) ที่ต้องพิจารณาในภาพรวมของทุกวิชาชีพ พร้อมจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปีงบประมาณนี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มไลน์ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งข้อมูลสรุป VDO Conference เพื่อสร้างความเข้าใจปัญหาการบริหารงานบุคคลของ รพ.สต.ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้างต้นดังนี้

1.การดำเนินงานในระดับ รพ.สต.เน้นทีมหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชากร 10,000 คน

2.สธ.จะดูแลเรื่องอัตรากำลังของ primary cluster โดยสนับสนุนให้แพทย์เรียนเวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น

3.กรอบโครงสร้างของ รพ.สต.จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ส่งเสริม, รักษา, สนับสนุน

4.อัตรากำลังให้เป็นไปตามเกณฑ์เดิม เช่น นักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) 1:1,250 พยาบาล 1:2,500

5.การกำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษของ รพ.สต.จะพิจารณาตามปริมาณงาน

6 ค่า Fix cost จัดสรรให้เป็นค่าสาธารณูปโภค/ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว 2 คน/ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยขั้นต่ำให้ รพ.สต.ขนาดเล็ก (ประชากรน้อยกว่า 3,000) = 25,000 บาทต่อเดือน รพ.สต.ขนาดกลาง (ประชากร 3,001-8,000) = 27,500 บาทต่อเดือน และ รพ.สต.ขนาดใหญ่ (ประชากร 8,001 ขึ้นไป) = 30,000 บาทต่อเดือน

7.ประเด็นเรื่องการคัดเลือกเลขาฯ สปสช. ซึ่งมีกระแสข่าวต่อมาว่าจะมีการล้มเรื่องบัตรทองนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

8.ประเด็นที่พื้นที่ขอหารือ คือ

- ขอเพิ่มกรอบอัตรากำลังใน รพ.สต.

- ขอปรับเพิ่มอัตราจ้างของลูกจ้างชั่งครว ตามหนังสือ ว38

- ขอจัดสรรตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ อย่างน้อย 20% ของ รพ.สต.

- ค่าเสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขอให้เฉลี่ยให้ได้ใกล้เคียงกันทุกวิชาชีพ/ทุกคน

- ให้พิจารณาเรื่องการโอนเงินตรงให้ รพ.สต.

- การนับระยะเวลาเกื้อกูลของตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) เป็น นวก.สธ.

- การจ่ายเงินค่าตอบแทน ฉบับ 8 บางจังหวัดมีปัญหายังไม่ได้จ่าย

- คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 897/2559 เรื่องมอบหมายให้ข้าราชการเป็นผู้บังคับบัญชา โดยมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) เป็นหนึ่งในผู้บังคับบัญชาในฐานะผู้อำนวยการกองนั้น มีปัญหาตีความว่ามีอำนาจหน้าที่แค่ไหน

ทั้งหมดนี้กระทรวงจะดูแลให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับประโยชน์สูงสุด สำหรับการจ่ายเงินค่าตอบแทนและอำนาจตามคำสั่ง 897/2559 รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ในระดับจังหวัด ขอให้ นพ.สสจ.ชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ด้วย รวมทั้งขอร้องไม่ให้เดินทางไปกระทรวงฯ ในวันที่ 26 ก.ค.59 นี้ เนื่องจากท่านปลัดต้องไปประชุม ครม.เรื่องงบประมาณ และผู้บริหารหลายท่านติดภารกิจ