ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมสาธารณสุข เสนอ สธ.แบ่งกลุ่มงาน รพ.สต.เพิ่มความชัดเจนการปฏิบัติงาน พร้อมแบ่งขนาด รพ.สต.เล็ก กลาง ใหญ่ ตามเกณฑ์ประชากร เพื่อจัดสรรอัตรากำลังคนเพิ่ม ดูแลประชาชนได้ทั่วถึง หนุนความเข้มแข็งบริการปฐมภูมิ เตรียมประชุมร่วม สธ.หาข้อสรุป 9 ส.ค. นี้

นายปรเมษฐ์ จินา

นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ละชมรมได้รับมอบดำเนินการจัดทำข้อเสนอการแบ่งกลุ่มงานและกลุ่มขนาด รพ.สต.เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้าง รพ.สต. โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งจะทำให้กรอบการทำงานภายใน รพ.สต.มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงอัตรากำลังในระบบสาธารณสุขที่ต้องเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ข้อเสนอการแบ่งกลุ่มงาน รพ.สต. นั้น ชมรมฯ ได้ข้อสรุป โดยแบ่งกลุ่มงานออกเป็น 3 กลุ่มงานตามภาระงาน คือ

1.กลุ่มงานบริหารสาธารณสุข

2.กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรค

และ 3.กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัว

พร้อมกันนี้ยังเสนอให้มีการแบ่งขนาด รพ.สต. เพื่อจัดเพิ่มกำลังคนแต่ละกลุ่มตามประชากรที่ต้องรับผิดชอบในพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

1.รพ.สต.ขนาดเล็ก ดูและประชากรไม่เกิน 3,000 คน ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต.จำนวน 8 คน

2.รพ.สต.ขนาดกลาง ดูแลประชากร ตั้งแต่ 3,000-8,000 คน ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต.จำนวน 12 คน

และ 3.รพ.สต.ขนาดใหญ่ ดูแลประชากร 8,000 คนขึ้นไป ต้องมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. 15 คน

ในจำนวนบุคลากรที่เสนอนี้ แบ่งเป็น ผอ.รพ.สต. หัวหน้ากลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ     

“ข้อเสนอการปรับโครงสร้าง รพ.สต.นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง เพราะจะทำให้มีการจัดกำลังคนเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันยังขาดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจำนวนเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ปัจจุบัน มีอัตราเฉลี่ยเพียง 3.9 คนต่อแห่งเท่านั้น จึงควรมีการเพิ่มเติมบุคลากรเข้าสู่ระบบ” ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวและว่า ข้อเสนอนี้ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จะมีการประชุมเพื่อสรุปเพื่อความชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม นี้

นายนายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ข้อเสนอข้างต้นนี้เครือข่ายชมรมวิชาชีพได้ร่วมกันนำเสนอ ส่วนแนวโน้มการตอบรับนั้น คงต้องวิงวอนกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารประเทศ หากต้องการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ต้องให้ความสำคัญต่องานปฐมภูมิในการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันอย่างเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและกำลังคน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเจ็บป่วยของประชาชนที่นำมาสู่การรับการรักษาแล้ว แต่ยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงด้วย