ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ขณะนั้นแม้ว่าภาพการทำงานของ “หมอเวชศาสตร์ครอบครัว” จะยังไม่ชัดเจน แต่ด้วยที่ไม่ได้ชอบวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นพิเศษที่จะเป็นแรงจูงใจเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่ยังอยากเรียนต่อเพื่อเพิ่มเติมความรู้แพทย์ที่เรียนมาให้แน่นขึ้น สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นคำตอบในวันนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานในฐานะ “หมอเวชศาสตร์ครอบครัว” หรือที่เรียกทั่วไปว่า “หมอครอบครัว” ซึ่งได้ร่วมพัฒนาระบบบริการระดับปฐมภูมิ “โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา” ช่วยเติมเต็มการรักษาพยาบาลให้กับชาวบ้านในพื้นที่

พญ.ตรีธันว์ ศรีวิเชียร

พญ.ตรีธันว์ ศรีวิเชียร หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และใช้ทุนที่ จ.กำแพงเพชร ในช่วงระหว่างนั้นมีเพื่อนที่ใช้ทุนแล้วและเลือกเรียนต่อสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวที่เพิ่งมีการเปิดสอนเป็นปีแรก ยอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้ว่าสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร แต่จากการพูดคุยกับเพื่อนที่เลือกเรียนสาขานี้เป็นรุ่นแรก รู้แต่ว่า รักษาโรคทั่วๆ ไป และต้องลงไปทำงานในชุมชนเท่านั้น ประกอบกับที่ในช่วงเรียนไม่ได้ชอบวิชาไหนเป็นพิเศษ ที่จะต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง แต่ยังอยากเรียนทุกวิชาเพื่อให้มีความรู้เพิ่ม ซึ่งเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสาขาที่ต้องเรียนทุกวิชา ดังนั้นหลังจากใช้ทุนแล้ว จึงขอทุนที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา จ.อยุธยาที่เป็นบ้านเกิด เพื่อเรียนต่อสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว โดยการเรียนการสอนขณะนั้นอยู่ที่ รพ.ชลบุรี

จากการเรียนต่อสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวในรูปแบบ Formal Training ทำให้ภาพหมอเวชศาสตร์ครอบครัวเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ด้วยการเรียนการสอนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ใน รพ.มากกว่าลงพื้นที่ ความเข้าใจในเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวที่เกิดขึ้น จึงมาจากการอ่านข้อมูลและเขียนรายงาน โดยไม่ได้ซาบซึ้งถึงบทบาทหน้าที่หมอเวชศาสตร์ครอบครัวในชุมชน รู้แต่ว่าต้องมีความเข้าใจต่อผู้ป่วยรวมถึงครอบครัว ซึ่งหลังจากเรียนจบจึงกลับมาทำงานที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา แม้ว่าในขณะนั้นคลินิกโรคเรื้อรังตามศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองมีไม่มาก แต่ด้วยหมอเวชกรรมสังคมที่มีน้อย ทำให้งานที่ทำเป็นการเน้นออกตรวจคนไข้ตามศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง งานอื่นจึงยังไม่ได้ทำ เช่น งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น บทบาทของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวในการทำงานจริงจึงยังไม่เด่นชัด ไม่แตกต่างอะไรกับหมอเวชปฏิบัติทั่วไป

ต่อมา รพ.พระมงกุฎเกล้าได้เปิดเป็นสถาบันหลักสอนสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ในหลักสูตร In Service Training Tract 2 โดยให้เรียนทฤษฎีเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนที่เหลือ 4 วันให้ลงไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นสถาบันสมทบ ขณะนั้น รพ.พระนครศรีอยุธยา ก็เป็นสถาบันสมทบที่รับแพทย์มาเรียนและฝึกปฏิบัติงาน โดยมีหมอรุ่นน้อง 2 คนถูกส่งให้มาปฏิบัติและเรียนรู้ที่นี่ในฐานะแพทย์ประจำบ้าน ตรงนี้นำมาสู่จุดเปลี่ยน เพราะแต่เดิมตัวเองเน้นแต่การทำงานบริการเพียงอย่างเดียว แต่พอมีแพทย์ประจำบ้านมาปฏิบัติงาน จึงมองว่าต้องมีหลักวิชาการเข้ามาเพื่อช่วยในการสอนและพัฒนาแพทย์ประจำบ้านด้วย

“ช่วงที่มีน้องๆ ซึ่งเป็นหมอรุ่นน้องมาให้ช่วยสอนนั้น ต้องบอกว่าเดิมไม่เคยสอนเลย ทำแต่งานบริการอย่างเดียว แต่เมื่อมีน้องมาเรียนก็ต้องมาดูว่าจะสอนเขายังไง สอนอะไรบ้าง เท่านั้นไม่พอยังคิดต่อว่าจะทำยังไงให้น้องที่มาเรียนทั้ง 2 คนนี้อยู่ทำงานกับเราต่อไป จึงได้ทุ่มเทตรงนี้มาก เพราะกลัวว่ารุ่นน้องที่มาเรียนกับเราจะสู้เพื่อนๆ ที่ฝึกงานโรงพยาบาลอื่นไม่ได้ ทำให้เกิดความใส่ใจต่อการสอนอย่างมาก ทั้งเรียกคุยทุกสัปดาห์เพื่อประเมินและให้คำแนะนำ โดยนำมาจากความรู้ที่เรียนมารวมทั้งประสบการณ์ เป็นลักษณะแบบพี่สอนน้อง”

พญ.ตรีธันว์ กล่าวว่า จากจุดนี้ก็มีแพทย์ประจำบ้านที่ขอย้ายมาจากโรงพยาบาลอื่นอีก 2 คน คือเรียนปี 1 ที่อื่น แล้วเกิดปัญหาความขัดข้องบางประการ อาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจึงได้ติดต่อมาขอให้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาช่วยรับย้ายแพทย์ประจำบ้าน 2 คนนั้นมาเรียนต่อปี 2 และ ปี 3 ที่นี่ และหลังจากนั้น ก็มีการชักชวนต่อๆ กันไป ว่าโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยามีระบบบริการปฐมภูมิและระบบการดูแลแพทย์ประจำบ้านที่ดี เหมาะสมที่จะมาฝึกปฏิบัติงาน ทำให้จากวันนั้นถึงวันนี้ ปัจจุบัน รพ.พระนครศรีอยุธยา มีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวถึง 13 คน ส่งผลให้มีการพัฒนางานด้านต่างๆ ทั้งในด้านบริการ การเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการกระจายความรู้ไปยังบุคลากรในทีมหมอครอบครัว ทั้งพยาบาล นักกายภาพบำบัด เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน รพ.พระนครศรีอยุธยาได้รับการประเมินและขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันหลักด้านการเรียนการสอนในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม รพ.พระนครศรีอยุธยา แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวถึง 13 คนและถูกมองเป็นจุดแข็ง แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวจะเติมเต็มในทุกมิติได้ ซึ่ง นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา บอกไว้ว่าหากทั้งหมดยังทำงานตั้งรับ อย่างการเปิดคลินิกโรคเรื้อรังตาม รพ.สต. ก็เท่ากับเป็นการย้ายห้องตรวจ รพ.เท่านั้น ดังนั้นต้องเน้นทำงานด้านส่งเสริมและป้องกันโรค รวมถึงการปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคด้วย ซึ่งยอมรับว่างานด้านนี้ยังทำได้น้อยมาก

ที่ผ่านมาพยาบาลเป็นกลุ่มบุคลากรที่เข้ามาช่วยเสริมงานนี้ได้มาก และได้มีการดำเนินงานหลายอย่างไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ จึงเป็นคำตอบว่าในหลายพื้นที่ถึงไม่มีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวจำนวนมากเหมือนที่นี่ แต่งานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวยังเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการมองปัญหาเป็นตัวตั้งไม่ใช่ที่แพทย์ และใช้กลไกที่มีอยู่ตามบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น  เพราะคนทำงานเวชศาสตร์ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวเท่านั้น   

ทั้งนี้ยอมรับว่าเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ขอบเขตการทำงานยังกว้างเหมือนทะเลและเป็นเรื่องไม่ง่ายในทางปฏิบัติ เพราะการดูแลคนไข้นั้น ไม่ใช่ดูแลเฉพาะทางกายเท่านั้น แต่ต้องดูถึงจิตใจที่มีผลต่อสุขภาพ รวมไปถึงคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งต่างมีผลต่อสุขภาพทั้งหมด ดังนั้นการทำงานจึงไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะวิชาแพทย์ที่เรียนมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามไม่ว่างานเวชศาสตร์ครอบครัวจะกว้างแค่ไหน แต่ทั้งหมดมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียว คือ “การทำให้ชาวบ้านเกิดการดูแลตนเอง” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของงานเวชศาสตร์ครอบครัว ยิ่งหากชุมชนมาช่วยกันดูแลจะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ

แต่เป้าหมายนี้ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะชีวิตในสังคมเมืองที่ต้องรีบเร่ง แข่งขันกับเวลา ข้อจำกัดที่ต้องหารายได้ ซึ่งบางคนรู้ว่าการดูแลสุขภาพที่ดีต้องทำอย่างไร แต่ปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายของงานเวชศาสตร์ครอบครัวในเขตเมือง

พญ.ตรีธันว์ กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้น นอกจากภาครัฐมีนโยบายที่เน้นการบริการปฐมภูมิ ที่นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการรวมตัวของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวในการจัดตั้งเป็นสมาคม ชมรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนวิชาชีพและงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศ ส่งผลให้ภาพหมอเวชศาสตร์ครอบครัววันนี้มีความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่มีคนรู้จักน้อยมาก และยังถูกมองเป็นหมอชั้น 2 มาตลอด 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง