ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเจตน์” หนุน สปท.ตั้ง NHPB กำหนดนโยบายพร้อมคุมภาพรวมระบบสุขภาพประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ลดความซ้ำซ้อนนโยบายและงบประมาณ ระบุไม่ทับซ้อน คสช. เหตุบทบาทหน้าที่ต่างกัน โดย คสช.มุ่งธรรมนูญสุภาพ เน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ขณะที่ NHPB ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศ ซ้ำไม่ได้จัดตั้งเพื่อคุมตระกูล ส. เพราะไม่ใช่ คกก.บริหาร   

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board: NHPB) ว่า เป็นข้อเสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกลไกในการอภิบาลระบบสุขภาพทั้งประเทศให้มีเอกภาพ โดยความเห็นส่วนตัวสนับสนุนกับแนวคิดนี้ เนื่องจากระบบสุขภาพปัจจุบัน นอกจากมีหลายระบบแล้ว หน่วยบริการยังมีหลายสังกัด นอกจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทำให้การดำเนินนโยบายสุขภาพประเทศไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไกที่เข้ามาดูภาพรวมระบบสุขภาพทั้งประเทศเพื่อให้นโยบายต่างๆ ในระบบสุขภาพขับเคลื่อนไปด้วยกัน   

ทั้งนี้ นโยบายที่ต้องขับเคลื่อนในภาพรวม อาทิ นโยบายพัฒนาระบบการแพทย์เจ็บป่วยฉุกเฉิน (EMCO) ที่ต้องครอบคลุมถึงโรงพยาบาลเอกชน นโยบายผลิตแพทย์เพิ่มที่ต้องดูทั้งระบบ หรือแม้แต่การประเมินความคุ้มค่าของสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลที่จัดทำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้เฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ไม่ครอบคลุมระบบอื่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ทางการแพทย์ การประกันภัยบุคคลที่ 3 และรวมถึงงบสร้างเสริมสุขภาพทั้งหมด

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนโครงสร้างของ NHPB นั้น มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ

1.เป็นหน่วยงานอิสระ ดำเนินงานโดยอิสระเพื่อดูทั้งสุขภาพทั้งระบบ

และ 2.อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งหากเป็นการดำเนินการตามแนวทางที่ 2 นี้ กระทรวงสาธารณสุขในอนาคตต้องมีการปรับบทบาทตนเองเพื่อทำหน้าที่นี้ เน้นการดูภาพรวมระบบสุขภาพทั้งประเทศ และต้องปล่อยให้โรงพยาบาลออกนอกสังกัดไป แต่เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกันยาว รวมถึงต้องทำประชาพิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสียของการให้โรงพยาบาลออกนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม NHPB ในต่างประเทศมีการดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งข้อเสนอนี้ได้มีการอ้างอิงและดูตัวอย่างจากต่างประเทศ และนำมาปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทย

ส่วนที่มองว่าการจัดตั้ง NHPB อาจซ้ำซ้อนกับบทบาทของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า การทำงานของ NHPB กับ คสช.นั้นแตกต่างกัน และมีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน โดย คสช.จะเน้นการมีส่วนรวมของภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคมที่เข้ามาร่วมจัดทำธรรมนูญสุขภาพ และเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปปฏิบัติ แต่ไม่ได้เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายที่มีผลในเชิงบริหาร แตกต่างจาก NHPB ซึ่งเป็นกลไกกำหนดนโยบายภาพรวมระบบสุขภาพของประเทศ นอกจากนี้จะทำให้งบประมาณระบบสุขภาพของประเทศมีความชัดเจนขึ้น

“ปัจจุบันงบประมาณในระบบสุขภาพของประเทศอยู่ที่ 17-18% ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียง 5% เท่านั้น หรือจำนวน 123,465 ล้านบาท ในปี 2560 และที่ผ่านมามีปัญหาขาดแคลนงบประมาณที่ส่งผลต่อหน่วยบริการ ซึ่งเมื่อขอปรับเพิ่มมักมีการอ้างอิงว่าจะทำให้งบประมาณด้านสุขภาพของประเทศขยับเพิ่มสูงถึง 19-20% ที่เกินเพดานของงบประมาณแผ่นดิน ทั้งที่งบประมาณระบบสุขภาพ 12-13% ถูกแทรกไว้ยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง NHPB จะดูภาพรวมในเรื่องนี้ ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลเห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้นและเพิ่มเติมงบประมาณลงในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ประธาน กมธ.สาธารณสุข กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนได้

ต่อข้อซักถามว่า ขณะนี้การผลักดันจัดตั้ง NHPB อยู่ในขั้นตอนใด นพ.เจตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งคงต้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้มองว่ายังอีกไกล อย่างไรก็ตามการจัดตั้ง NHPB มองว่ากระทรวงสาธารณสุขน่าจะเห็นชอบด้วย เพราะเคยเป็นข้อเสนอของกระทรวงเองเมื่อ 5 ปีก่อน ส่วนที่มองว่าจะเป็นการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อควบคุมตระกูล ส.นั้น คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเพียงการกำหนดนโยบายไม่ได้มีอำนาจบริหาร ซึ่งหากจะยุบหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งนั้นต้องเป็นเป็นคณะกรรมการบริหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการผลักดัน NHPB สำเร็จ ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร นพ.เจตน์ กล่าวว่า นโยบายสุขภาพทั้งประเทศ นอกจากจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ยังลดความซ้ำซ้อนของนโยบาย งบประมาณ และการดำเนินงานด้านต่างๆ ในระบบสุขภาพได้ ทำให้งบประมาณประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการจัดตั้ง NHPB นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติ แต่ที่ประชุม คกก.ปฏิรูปราชการยังห่วงซ้ำซ้อน คกก.สุขภาพชาติ

เร่งยกร่างกฎหมายตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติให้เสร็จ ต.ค.นี้

เปิด 2 ทางเลือกคุมนโยบายสุขภาพชาติ ‘ตั้งซุปเปอร์บอร์ดชุดใหม่ vs ปรับโครงสร้าง คกก.สุขภาพ’

“หมอมงคล” หนุนตั้ง NHPB แต่ท้วง สธ.ไม่ควรเป็นแกนนำขับเคลื่อน เหตุผลประโยชน์ทับซ้อน