ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“บอร์ดหลัก บอร์ดควบคุม สปสช.” ระดมสมองพัฒนาหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน ชี้ความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้ "คุณภาพ" บริการเพิ่มขึ้น และเน้นไปยังการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยให้ อปท.เข้ามามีบทบาทหลักร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 3-4 ก.ย. 2559 ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ประชุมระดมสมอง (Retreat) เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น 2 วัน คือวันที่ 3-4 ก.ย. การประชุมช่วงแรก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้แนวคิดในการประชุมระดมสมองในครั้งนี้ (Retreat and Refection) และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช.ได้นำเสนอข้อมูลการพัฒนาระบบสาธารณสุขจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาไปข้างหน้า

หลังจากนั้นได้แบ่งกลุ่มและนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพตลอด 15 ปี ในช่วงนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอไว้ในตอนหนึ่งว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้ประชาชนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดีขึ้น ไม่ต้องล้มละลาย และมีบริการปฐมภูมิที่ดีขึ้น แต่อยากให้มีระบบบริหารจัดการแบบกัลยาณมิตร เพิ่มการทำงานร่วมกับ อปท. และเพิ่มการดูแลตนเองของประชาชนมากขึ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของในระบบงบประมาณ เพราะค่าใช้จ่ายในอนาคตจะมากขึ้น ทำอย่างไรให้ 3 กองทุนเหมือนกัน โจทย์สำคัญคือจะคงสิ่งดีๆ เหล่านี้ และสร้างสิ่งดีๆ ใหม่ๆ ได้อย่างไร"

ทั้งนี้การนำเสนอแต่ละกลุ่มในช่วงบ่ายนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. สังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำมาก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ องค์กร ส.ทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของระบบสุขภาพ ต้องทำงานร่วมกัน และเน้นหลักการบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

2. ต้องสร้างความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ โดยกระจายการจัดการสุขภาพลงไปยังพื้นที่ให้มากที่สุด

3. เข็มมุ่งเพื่อความยั่งยืนในการบริบาลสุขภาพคือสร้างความเข้มแข็งให้การส่งเสริมป้องกันโรค

4. ประเด็นท้าทาย คือการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่าง สธ.และ สปสช.​

5. ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษา Unit Cost รายโรค เพื่อหาต้นทุนบริการที่แท้จริง

6. ต้องปฎิรูประบบสุขภาพ เช่น รพ.ใดที่ตั้งในที่ไม่เหมาะสม หรือมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากพอ ควรต้องเปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าทีอื่นให้เหมาะสม

7. บทบาทสำคัญของ สปสช.คือ การสร้างสมดุลในทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ห้วงเวลาที่ผ่านมา สปสช.ประสบความสำเร็จในการสร้างการรวมตัวของภาคประชาสังคม สร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจว่า ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เป็นการลงทุน มิใช่ภาระ และยังอาจทำงานกับกลุ่มผู้ให้บริการไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ทำให้กลไกทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้

8. 15 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินอย่างมียุทธศาสตร์และทำอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและต้องพัฒนาให้มั่นคงให้มากขึ้นต่อไป

9. นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายสาธารณะที่ประสบความสำเร็จมาก สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสเพื่อการพัฒนา

10. 15 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความเร็จในเชิง "เป้าหมาย" คือ ทำให้คนไม่ล้มละลาย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบสุขภาพมาอย่างยาวนาน และประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนตระหนักและรับรู้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสิทธิตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเฝ้าระแวดระวังหากมีภัยคุกคามที่จะกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้ "คุณภาพ" บริการเพิ่มขึ้น และเน้นไปยังการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยให้ อปท.เข้ามามีบทบาทหลักร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง