ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"...30 บาทรักษาทุกโรค...เป็นโครงการที่ดีเพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว"

"...ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า...รับประกันว่าไม่ล้ม แต่จะทำให้ระบบมั่นคงและยั่งยืน..."

"...ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในทุกกองทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง งบภาครัฐไม่พอ ส่งผลต่อทั้งบุคลากรในระบบและประชาชน ตลอดจนความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ จึงต้องช่วยกันหาทางช่วยเหลือ..."

เนื้อความข้างต้นดูจะเป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับรู้รับทราบจากสื่อมวลชนหลากหลายแขนง ทั้งจากปากของผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและต่างชาติ และทุกภาคส่วนในสังคม

ล่าสุดแนวคิด "ร่วมจ่าย" ในรูปแบบต่างๆ เริ่มถูกนำเสนอมาประปราย เพื่อเป็นการโยนหินถามทาง ดูปฏิกิริยาตอบสนองจากสังคม

วันนี้ผมได้อ่านโพสจากน้องหมอในโรงพยาบาลภาครัฐคนหนึ่ง ที่ถ่ายทอดประสบการณ์สดๆ ร้อนๆ มาดังนี้

"...คืองงแปป คนไข้มาตรวจบอกว่าเป็นไข้แต่จะไม่เอาพารา จะเจาะเลือดตรวจก็บ่ายเบี่ยง...จะขอยาลดไข้ชนิดอื่น สรุป แมวเป็นไข้จะมาขอยาลดไข้ให้แมว ผมละอึ้งเลยทีเดียว...หมอคนต้องรักษาสัตว์ เป็นความรู้ใหม่แมวมีไข้ห้ามให้พาราเด็ดขาดนะครับตับแมวจะพัง -*-..."

คาดว่าด้วยความเมตตากรุณาของคนไทยส่วนใหญ่ คงมองว่าเรื่องดังกล่าวเล็กน้อย ให้ๆ ไปเถอะ แมวก็มีชีวิตจิตใจ ยาราคาไม่กี่สตางค์

แต่ผมขอสะท้อนอีกมุมหนึ่งให้ฟังละกันครับ

ท่ามกลางข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศทั่วโลกในการลงทุนจัดการระบบบริการสาธารณะให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถดูแลสวัสดิภาพ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และคุณภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ทุกประเทศล้วนพิจารณาถึงความเป็นธรรมสำหรับทุกคนในสังคม โดยประกาศให้ทราบถึงสิทธิ พร้อมบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ทุกคนในสังคมพึงกระทำ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของดูแลระบบสาธารณะของประเทศ ไม่เบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

Department of Health and Human Services ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศสาธารณะให้ประชาชนผู้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยในระบบ Medicare และ Medicaid ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2557 โดยมีสาระสำคัญว่า ทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบ

ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยกันดูแลตามมาตรฐานเพื่อลดความผิดพลาดจากการดูแลรักษา (errors) รวมถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ตลอดจนพัฒนาระบบการทำงานที่ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรโดยไม่จำเป็น (waste)

ในขณะที่ทั้งบุคลากรและประชาชนจะต้องช่วยกันกระทำการอย่างถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงการเคลมค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และ/หรือไม่เกิดขึ้นจริง และ/หรือไม่ตรงตามสิทธิที่พึงมี

เหตุผลหลักที่ประกาศเช่นนี้ เพราะมีการศึกษาวิจัยพบว่าเหตุการณ์การเบิกจ่ายไม่เหมาะสม (abuse) และการฉ้อโกง (fraud) นั้นทำให้ทุกคนในประเทศต้องแบกรับภาระไปหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว

แน่นอนว่าเค้าไม่ประกาศสาระข้างต้นเพียงเท่านั้น แต่ยังพ่วงเรื่อง "โทษทางกฎหมาย" ที่จะเกิดขึ้นหากกระทำผิดด้วย โดยมีทั้งโทษปรับตั้งแต่ 5,500-11,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 3 เท่าของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรัฐ แล้วแต่ว่าอย่างไหนมากกว่ากัน พร้อมโทษทางอาญา

ดูบ้านเค้าแล้วมาดูบ้านเรา...

ข้าราชการมักถูกกระหน่ำเป็นแพะรับบาปจากหลายฝ่ายว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่ากองทุนอื่นจนก่อให้เกิดภาระต่อรัฐ โดยอาจมาจากการใช้สุรุ่ยสุร่าย ในขณะที่ความจริงอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่นเป็นเพราะโครงสร้างประชากรที่เป็นข้าราชการมีอายุที่มากกว่ากองทุนอื่น จึงมีโรคภัยและต้องรักษาเยอะกว่า แต่สุดท้ายระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลก็พยายามทำหลายต่อหลายทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎคุมเข้มด้านการเบิกจ่าย ตลอดจนสรรหาประกันเอกชนมาบริหารจัดการระบบ

เรื่อง "เบิกยาให้แมว" ของคนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เล่าให้ฟังข้างต้นถือเป็นตัวอย่างชัดเจนของการใช้สิทธิรักษาพยาบาลแบบฉ้อโกงรัฐ ซึ่งสมควรที่จะใช้เป็นบทเรียนของทุกฝ่ายในสังคม เพื่อสร้างนโยบายและมาตรการที่ขาดหายไปในสังคมไทย

สิทธิ...มีแล้วต้องพ่วงไปกับบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ

เมื่อใดที่ประเทศเรารักษาสมดุลดังกล่าวได้ เมื่อนั้นจึงจะเห็นการพัฒนาได้อย่างมั่นคง...มั่งคั่ง...และยั่งยืน

เพราะปัญหาสังคมที่เราเห็นเรื้อรังและหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุจราจร เหล้าบุหรี่ ยาเสพติด บ่อนการพนัน ปัญหาขยะ/สิ่งแวดล้อมและการรุกล้ำที่สาธารณะ ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ก่อผลเสียต่อสุขภาพ ล้วนมาจากการใช้เล่ห์กลให้ตนเองได้สิทธิ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่พึงมี

พูดอีกนัยหนึ่งคือ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาช่วยกันปกป้องสิทธิของส่วนรวม...

หากเราเลือกที่จะนิ่งเฉย หรือปล่อยเลยตามเลย อนาคตก็อย่ามาพล่ามบ่นเวลาเจอปัญหาเหล่านั้นมากระทบตัวเรา

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง:
Medicare Fraud&Abuse. Available online at: https://www.cms.gov/Outreach-and-Education/Medicare-Learning-Network-MLN/MLNProducts/downloads/Fraud_and_Abuse.pdf