ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้โรงพยาบาลในสังกัดดำเนินการตามนโยบาย“โรงพยาบาลใช้ยาอย่างสมเหตุผล” (Rational Drug Use : RDU Hospital) โดยกำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และเป็นคำรับรองในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจราชการ ในปี 2560 ทั้งนี้ ก่อนการผลักดันให้เกิดนโยบายได้นั้น องค์ความรู้จากงานวิจัยนับว่าเป็นต้นน้ำสำคัญในการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ไปสู่การปฏิบัติ

จากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จัดโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ที่โรมแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ

ภญ.พรพิศ ศิลขวุธท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้กล่าวในการอภิปรายเรื่องทิศทางอนาคตการดำเนินงาน RDU Hospital ว่า สวรส.มีแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา ที่ดำเนินงานสอดคล้องและเสริมนโยบายแห่งชาติด้านยา ตามยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน โดย สวรส. มีการดำเนินการวิจัยสำคัญ ตามยุทธศาสตร์ที่ 2 การใช้ยาอย่างสมเหตุผล คือ ชุดโครงการวิจัยพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย และชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

สำหรับ “แผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” มีชุดโครงการวิจัยที่ดำเนินงาน ร่วมกับเครือข่ายวิจัยระบบยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 11 องค์กร ตัวอย่างของการขับเคลื่อนโดยผ่านองค์ความรู้และข้อค้นพบที่เป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อติดตามประเมินผลที่สะท้อนการใช้ยาสมเหตุผลของสถานพยาบาล การสร้างความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รวมทั้งการส่งเสริมการบรรจุ RDU ในหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เป็นต้น

ทางด้าน ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี นักวิจัยอาวุโสจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้จัดการแผนงานวิจัยการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของ สวรส. กล่าวว่า สวรส. ได้สร้างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผลิตองค์ความรู้สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมาตั้งแต่ช่วงปี 2555-2556 โดยเริ่มจากการค้นหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา จุดอ่อนและจุดแข็งของระบบยาในประเทศไทย การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบว่าได้มีการเรียนรู้และมีการขับเคลื่อนการใช้ยากันอย่างไร ตลอดจนการทบทวนกลไก วิธีการ หรือรูปแบบในการจัดการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ และการศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประเทศไทย

“ต่อมาในช่วงปี 2557-2558 เมื่อเราเริ่มมีฐานความรู้ มีเครื่องมือเชิงวิชาการ ทางนักวิจัยจึงได้เริ่มทำการวิจัยที่เน้นเชิงปฏิบัติการและทดสอบ กลไก เครื่องมือ รวมทั้งประสานกลไกเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อให้มีรูปแบบของการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเหตุผลมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น” ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็นนโยบาย ทีมวิจัยได้ทำงานกับโรงพยาบาลนำร่องเริ่มต้นจาก 75 แห่ง ก่อนจะขยายเป็น 205 แห่ง ซึ่งแสดงถึงความพร้อมในการเดินหน้าตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยทีมวิจัย สวรส.ยังคงสนับสนุนทางวิชาการติดตามข้อมูลผลการดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ว่าการปฏิบัติได้ผลมากน้อยเพียงใด ประเด็นการสนับสนุนเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง ความรู้เหล่านี้จะเป็นข้อมูลป้อนกลับเพื่อนำมาพัฒนาในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กุญแจสำคัญ 6 ประการ ที่จะเป็นหัวใจสำคัญสู่ RDU Hospital หรือ P-L-E-A-S-E ประกอบด้วย

1.คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutics Committee)

2.ฉลากยาและข้อมูลสู่ประชาชน (Labeling and Leaflet)

3.เครื่องมือจำเป็นเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Essential RDU tools)

4.ความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย (Awareness of RDU in health personnel and patients) 5.การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ (Special population Care)

และ 6.จริยธรรมในการสั่งใช้ยา (Ethics in prescription)

กุญแจสำคัญ 6 ประการ เป็นหัวใจสำคัญสู่ RDU Hospital หรือ P-L-E-A-S-E ประกอบด้วย

เมื่อถามถึงความสำเร็จจากที่เริ่ม RDU Hospital เป็นนโยบาย มีรูปธรรมใดบ้างที่ทางผู้วิจัยมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ตัวอย่างเรื่องของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาล นับว่ามีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากการศึกษาเรียนรู้จากโรงพยาบาลที่นำร่องในพื้นที่ พบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการกำกับติดตามการใช้ยาชัดเจนขึ้น ข้อค้นพบในงานวิจัยชี้ชัดเจนว่า การมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติทำให้บุคลากรเกิดการตื่นตัวที่จะทำงานนี้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการสื่อสารการพูดคุยในระดับโรงพยาบาลกันมากขึ้น

“สิ่งที่ทีมวิจัย สวรส. กำลังจะเดินหน้าต่อ คือ การขยายผลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เกิดการขยายผลในระดับสังคม”

ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ทว่าจุดมุ่งหมายในภาพใหญ่ที่เราต้องการ คือ การเกิด “สังคมแห่งการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” (RDU Society) ทำให้งานวิชาการที่จะดำเนินการขยายวงนอกขอบเขตของโรงพยาบาลมากขึ้น เช่น การสร้างความตระหนักรู้ จะไม่จำกัดวงเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่จะต้องเปิดกว้างไปถึงบุคลากรทางวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงประชาชนในระดับปัจเจกจนถึงระดับชุมชน ให้สามารถรู้เข้าใจและเกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลด้วย

ทั้งนี้ ทีมวิจัย สวรส. ตั้งโจทย์ความท้าท้ายในอนาคตว่า หากต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในระดับสังคม การสร้างกระแสการยอมรับในวงกว้างย่อมมีความสำคัญ ไม่ว่า การสร้างความตระหนักรู้ของผู้ป่วยและชุมชน การสร้างกระแสความสนใจจากสังคม รวมถึงการสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยเรียนรู้จากการทำงานการรณรงค์เรื่อง ยาปฏิชีวนะ ‘ไม่ใช่’ ยาแก้อักเสบ ของชุดโครงการวิจัยพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยที่ได้ดำเนินการไปแล้ว