ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสมศักดิ์” ไม่กังวล “เครือข่ายผู้ป่วยเปิดรณรงค์ประชาชนร่วมปฏิรูปแพทยสภา” ค้านข้อเสนอเพิ่มคนนอกร่วมนั่งกรรมการแพทยสภา เหตุเป็นสภาวิชาชีพต้องมีความรู้การแพทย์พิจารณา ระบุเหตุไม่จำกัดวาระดำรงตำแหน่งเพราะแพทยสภาไม่มีอำนาจล้นอย่างประธานาธิบดี ทั้งเพื่อเกิดการทำงานต่อเนื่อง พร้อมยกตัวอย่างทั้ง “ลี กวนยู –มหาเธร์” เป็นนายกฯ ต่อเนื่องนับสิบปีดึงประเทศพัฒนา แถมเลือกตั้งผู้แทนราษฎรไม่จำกัดวาระเช่นกัน     

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่ทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้รณรงค์ขอให้ประชาชนร่วมลงรายชื่อเพื่อเสนอให้มีการปฏิรูปแพทยสภาว่า เท่าที่ดูข้อเสนอนี้ในการปฏิรูป โดยเฉพาะการให้คนนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการแพทยสภา ได้มีการอ้างถึงแพทยสภาในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นประเทศอังกฤษและในเครือจักรภพ ซึ่งในส่วนของประเทศอังกฤษนั้นสาเหตุที่แพทยสภามีคนนอกร่วมด้วยนั้น เนื่องจากปัจจุบันแพทย์ที่ให้การรักษาส่วนใหญ่เป็นแพทย์ชาวต่างชาติ โดยอันดับหนึ่งเป็นแพทย์ชาวอินเดีย ปากีสถาน และไนจีเรีย แม้แต่ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ยังเป็นชาวศรีลังกา ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามควบคุมและดูแลแพทย์เหล่านี้ อีกทั้งการทำหน้าที่ของแพทยสภาของอังกฤษยังทำหน้าที่เช่นเดียวกับกองประกอบโรคศิลปะ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญเลย อีกทั้งคนนอกที่เข้าร่วม รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งโดยเลือกผู้มีความรู้

ส่วนประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์นั้น แม้ว่าจะมีคนนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการแพทยสภา แต่คนนอกเหล่านี้ถูกตั้งโดยรัฐบาลเช่นกัน ที่เป็นผู้แทนโรงเรียนแพทย์ และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคนนอกเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศอินโดนีเซียที่มีคนนอกร่วมนั่งเป็นกรรมการแพทยสภา เนื่องจากที่มาในการเสนอจัดตั้งแพทยสภาดำเนินการโดยกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาเช่นกันเนื่องจากความไม่เข้าใจในเรื่องวิชาชีพ

“การจะนำชาวบ้านมาร่วมเป็นกรรมการแพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรดูแลมาตรฐานวิชาชีพด้านรักษาคงไม่ได้ เพราะชาวบ้านทั่วไปไม่มีความรู้ทางการแพทย์ ไม่สามารถพิจารณาว่าการรักษาใดถือเป็นมาตรฐานหรือไม่ เพราะบางกรณีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้หลักวิชาการ อย่างเช่น การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลความเป็นไปได้ในเรื่องนี้” นายกแพทยสภา กล่าว

ส่วนกรณีที่ระบุว่าการพิจารณาของแพทยสภาล่าช้าและทำให้การฟ้องคดีต้องหมดอายุความนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องคดีหมดอายุความต้องถามว่าเกี่ยวข้องอะไรกับแพทยสภา เนื่องจากการฟ้องศาลกับการฟ้องแพทยสภาเป็นคนละเรื่องกัน และที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายไหนที่ระบุว่าการฟ้องศาลต้องรอแพทยสภาตัดสินก่อน นอกจากนี้บางเรื่องที่ศาลยกฟ้อง แต่มีกรณีที่แพทยสภายังลงโทษต่อ เพราะมองว่าแม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดหลักจริยธรรมก็มี ขณะที่บางเรื่องศาลมีการติดสินการจ่ายชดเชยให้ผู้ป่วย แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับแพทย์เพราะเป็นเรื่องของโรงพยาบาล  

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอปฏิรูปที่ให้กรรมการแพยสภาดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระนั้น เดิมแพทยสภาไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ เพราะวาระการดำรงตำแหน่งนั้นสั้น อีกทั้งไม่ได้มีอำนาจมากมายไปสั่งใครได้หรือเป็นอำนาจเด็จขาดอย่างประธานาธิบดี ซึ่งหากดูผู้นำประเทศต่างๆ อย่างนายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ อยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 31 ปี นายมหาเธร์ บิน มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย อยู่ในตำแหน่ง 22 ปี หรือแม้แต่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ไม่มีการกำหนดวาระ ซึ่งหากสังเกตให้ดีประเทศที่ผู้นำไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจะมีการพัฒนาที่ดี ต่างจากประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนผู้นำบ่อยๆ ที่การพัฒนาไม่ไปถึงไหน เพราะยังไม่ทันเดินหน้าก็หมดวาระแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการที่เสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ได้เสนอให้มีการเพิ่มวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่องมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการระบุเหตุผลการเสนอปฏิรูปว่าความน่าเชื่อถือของแพทยสภาที่มีต่อประชาชนลดลง นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เรากำลังดูว่าจริงหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาการร้องเรียนของประชาชนต่อแพทยสภาจะลดลง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการร้องเรียนที่แพทยสภาเป็นเพียงแค่การลงโทษแพทย์เท่านั้น ต่างจากการร้องเรียนตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และฟ้องศาลที่จะได้รับเงินชดเชย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการร้องเรียนที่เข้ามายังแพทยสภาลดลง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อการรณรงค์ขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปแพทยสภา เนื่องจากแพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพจำเพาะต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งหากจะเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาต้องเรียนแพทย์มาก่อน อีกทั้งยังต้องถามแพทย์ในส่วนต่างๆ ว่ายินยอมหรือไม่ ซึ่งข้อเสนอปฏิรูปนี้เกิดจากความไม่เข้าใจบทบาทแพทยสภาและอยากที่จะควบคุมแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าการทำงานของแพทยสภาจะไม่มีคนนอกร่วมด้วย โดยกรณีการพิจารณาด้านจริยธรรมจะมีผู้แทนที่เป็นผู้พิพากษา อัยการ และสภาทนายความ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เข้าร่วมพิจารณา แต่ในกรณีอื่นๆ ถือเป็นความรู้เฉพาะด้านที่ต้องอาศัยความรู้ทางการแพทย์เท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่ารายชื่อปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ดันแก้ กม. ‘เพิ่มคนนอก-กก.เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ’

อดีตอธิการ มข.หนุนปฏิรูปแพทยสภาเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่แค่สหภาพแรงงานหมอ

‘หมอธีระ’ ค้านข้อเสนอคนนอกนั่งกรรมการแพทยสภา ชี้เป็นข้อเสนอสุดโต่ง

หมอล่ารายชื่อ ค้านข้อเสนอแก้กฎหมาย เพิ่มคนนอกเป็น กก.แพทยสภา

แนะควรจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง กก.แพทยสภา แก้ปัญหาผูกขาด

ยืนยันแพทยสภาเกือบทั่วทั้งโลกไม่มีคนนอกเป็นกรรมการ