ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด กทม.แจงการทำด้านสาธารณสุข ต้องทำงานประสานร่วมกัน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ย้ำไม่มีการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลชุมชนอย่างแน่นอน เพราะไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่เขตเมืองที่มีสถานพยาบาลมากมาย

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า ปัญหาลดความแออัดของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ใน กทม.การทำงานด้านสาธารณสุขนั้นทั้งแพทย์ พยาบาลงานมีงานเยอะมาก และในวันนี้ไม่ใช่แค่การดูแลเฉพาะคนใน กทม. 5.7 ล้านเท่านั้น ในส่วนของ กทม.ยังต้องดูแลคนอื่นที่เข้ามาใช้บริการอีกด้วย เพราะฉะนั้นการให้บริการในวันนี้ไม่ใช่แค่การให้บริการของ กทม. เราจะต้องประสานการทำงาน เพราะในพื้นที่ กทม.ยังมีสถานบริการของรัฐ และเอกชนอีกด้วย

แนวทางในการลดความแออัดในโรงพยาบาลในส่วนของ กทม.ตนได้สั่งสำนักอนามัยเข้าไปดูเรื่อง ระบบสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ และต้องมีการประสานเชื่อมโยงกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับคลินิกเอกชน และอื่นๆ พยายามจัดให้มีการเชื่อมโยงผ่านระบบการส่งต่อทั้งในสิทธิ สปสช.และในสิทธิที่เกี่ยวข้อง

รองปลัด กทม. กล่าวว่า การที่จะลดความแออัดในสถานพยาบาลได้จะต้องเพิ่มศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ให้ครอบคลุมมากขึ้น ส่วนในกรณีที่จะให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลนั้น ตนเองมองว่า ยังติดปัญหาด้านกำลังคน ขณะเดียวกันประชาชนมีความต้องการที่จะให้ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลชุมชนนั้น เราจะต้องพิจารณาเรื่องของความคุ้มค่าด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรงพยาบาลชุมชน กับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.นั้นมันเป็นมีความต่างกันคือ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เรามีแพทย์ และทันตแพทย์อยู่ประจำ แต่เราไม่มีเตียงให้คนไข้แอดมิดเท่านั้น

“การจะยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลชุมชนนั้นจะต้องดูที่บริบทของพื้นที่ เขตเมืองกับต่างจังหวัดจะต่างกัน ซึ่งจะต้องมีการพิจาณาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ ด้วย” พญ.วันทนีย์ กล่าว

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแพทย์ รองปลัด กทม.กล่าวว่า เป็นปัญหาในทุกพื้นที่ แพทย์ไม่เพียงพอต่องานที่ต้องทำ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวในหลายมิติ การแก้ปัญหาให้ได้นั้นจะต้องประสานความร่วมมือและต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน